จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

รวมคำถามพร้อมคำตอบที่สำคัญในคดีอาญา

คำถาม เข้าไปในบริเวณบ้านของผู้อื่นและใช้ก้อนหินขว้างผู้อื่นนั้น แต่ไม่ถูก แต่เป็นเหตุให้กระเบื้องหลังคาแตก จะถือเป็นการกระทำโดยพลาดอันจะเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์หรือไม่ และหากการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยประมาท ผลจะเป็นอย่างไร
 
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 2277/2554 จำเลยทั้งสองเข้าไปในบริเวณบ้านผู้เสียหายทั้งสองและใช้ก้อนหินขว้างผู้เสียหายทั้งสองแต่ไม่ถูก แต่เป็นเหตุให้กระเบี้องหลังคาแตก การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสองและฐานบุกรุกเคหสถานตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืน อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า ก้อนหินที่ขว้างไปถูกกระเบื้องหลังคาแสดงว่าเป็นเพราะพลาดไปถูกหลังคา มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาทำให้เสียทรัพย์ด้วย จึงถือเอาเจตนาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองเป็นเจตนาทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 60 ด้วยไม่ได้ แม้อาจกระทำโดยประมาทแต่การทำให้เสียทรัพย์โดยประมาทก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด


คำถาม เจ้าพนักงานตำรวจพบเห็นการกระทำความผิด แต่กลับไม่ทำการจับกุม และเรียกรับเงิน จะเป็นความผิดฐานใด ในทางกลับกันหากเป็นการแกล้งกล่าวหาแล้วเรียกเงินจะเป็นความผิดฐานใด


คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1524/2551 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดอาญา ได้พบเห็น ส. กับพวกเล่นการพนันชนไก่อันเป็นความผิดอาญา จำเลยมีหน้าที่ต้องทำการจับกุมผู้กระทำความผิด แต่กลับไม่ทำการจับกุมและเรียกรับเงินจำนวน 1,500 บาทจาก ส. เพื่อจะไม่จับกุมตามหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149
คำพิพากษาฎีกาที่ 3309/2541 คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันใช้จำเลยที่ 1 ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานตำรวจให้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อเป็นเครื่องมือให้ไปเรียกเก็บเงินจากบรรดาคนขับรถยนต์บรรทุกที่แล่นผ่านไปมาไม่เลือกว่าคนขับรถนั้นจะได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 เข้าไปพูดกับคนขับรถว่า “ตามธรรมเนียม” คนขับรถนั้นแม้มิได้กระทำความผิดก็ต้องจำใจจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 ด้วยความเกรงกลัวต่ออำนาจในการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ดังกล่าวเป็นการร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจเพื่อให้คนขับรถยนต์บรรทุกมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพวกของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 148 แล้ว และหากรถยนต์บรรทุกคันใดมีการกระทำที่เป็นความผิดต่อกฎหมาย ถ้าจำเลยที่ 1 เรียกเอาเงินจากคนขับรถได้แล้ว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็จะไม่ทำการจับกุม การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ดังกล่าวย่อมเป็นการร่วมกันเรียกและรับเงินจากคนขับรถยนต์บรรทุกสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อไม่กระทำการในตำแหน่ง คือไม่จับกุมตามหน้าที่อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 แต่คืนเกิดเหตุมีการเรียกเก็บเงินหลายครั้งหลายหน จากบรรดาคนขับรถหลาย ๆ คนดังนี้ เมื่อโจทก์รวมการกระทำเหล่านี้ไว้ในฟ้องข้อเดียวกันโดยถือเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท คือผิดทั้ง ป.อ. มาตรา 148 และมาตรา 149 จึงต้องบังคับให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ ซึ่งแต่ละบทมาตรามีโทษเท่านั้น และเมื่อผิดตามบทเฉพาะเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องปรับบทความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 อันเป็นทั่วไปอีก
คำพิพากษาฎีกาที่ 5973/2537 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนความผิดอาญา เมื่อได้พบและกล่าวหาว่าโจทก์ร่วมและนายสุเธียรมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอันมิใช่การแกล้งกล่าวหา การที่จำเลยที่ 1 ไม่จับกุมแต่กลับขู่เข็ญเรียกเงินแล้วละเว้นไม่จับกุมโจทก์ร่วมและนายสุเธียร จึงไม่ใช่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 แต่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 เนื่องจากโจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 อันเป็นบทเฉพาะมาด้วยก็ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปและเป็นบทที่โจทก์ฟ้องมาได้ สำหรับจำเลยที่ 2 มิใช่เจ้าพนักงานแต่ร่วมกระทำผิดฐานนี้ด้วย จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 86


คำถาม ภยันตรายอันเกิดจากการทำร้ายยังไม่สิ้นสุด สิทธิที่จะป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายยังคงมีอยู่หรือไม่


คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 8345/2544 ก่อนเกิดเหตุขณะอยู่ในงานเลี้ยงที่บ้าน ป. ผู้ตายกับจำเลยมีเหตุทะเลาะวิวาทจะทำร้ายกันเรื่องเล่นการพนันไฮโลว์ แต่มีคนห้ามไว้และให้จำเลยกลับบ้านจำเลยจึงขับรถจักรยานยนต์ออกจากบ้าน ป. เพื่อกลับบ้านต่อมาผู้ตายได้ออกตามไป ซึ่งแสดงว่าผู้ตายตามไปหาเรื่องจำเลยจนเกิดเหตุเป็นคดีนี้ การที่ผู้ตายตามไปทันจำเลยระหว่างทางพร้อมกับพูดทำนองว่าตายไปข้างหนึ่งและเข้าไปชกต่อยแล้วชักมีดออกมาจากข้างหลงจะแทงทำร้ายจำเลยก่อนเช่นนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตนเองได้ ถึงแม้จำเลยจะแย่งมีดจากมือผู้ตายได้แล้วก็มิใช่ว่าภยันตรายที่จะเกิดแก่จำเลย จากผู้ตายได้ผ่านพ้นหรือสิ้นสุดไปแล้ว เพราะผู้ตายมีรูปร่างสูงใหญ่และกำยำกว่าจำเลยซึ่งขาข้างซ้ายพิการใส่ขาเทียม โอกาสที่ผู้ตายจะแย่งมีดคืนจากจำเลยก็ยังมีอยู่ ซึ่งหากผู้ตายแย่งมีดคืนจากจำเลยมาได้ก็น่าเชื่อได้ว่าผู้ตายจะต้องแทงทำร้ายจำเลยได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ มิฉะนั้นผู้ตายคงไม่หาเรื่องจำเลยอีก ส่วนเหตุการณ์ในขณะที่แทงนั้นนับได้ว่าเป็นช่วงฉุกละหุก ประกอบกับขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนจำเลยไม่น่าจะมีโอกาสเลือกแทงผู้ตายตรงบริเวณอวัยวะที่สำคัญได้ถนัดชัดเจน ดังนี้ แม้จำเลยจะแทงผู้ตายถูกที่บริเวณราวนมด้านซ้ายทะลุถึงหัวใจอันเป็นอวัยวะที่สำคัญเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา ก็เป็นพฤติการณ์ที่ฟังได้ว่าเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุที่จำต้องกระทำเพื่อป้องกันในสถานการณ์เช่นนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 68
คำพิพากษาฎีกาที่ 1826/2530 ผู้ตายลากจำเลยเข้าไปในป่าข้างทางเพื่อจะข่มขืนและขู่ว่าจะฆ่าจำเลยจึงใช้มีดแทงผู้ตายทีหนึ่ง แล้วทั้งจำเลยและผู้ตายต่างวิ่งออกมาจากที่เกิดเหตุห่างประมาณ 100 เมตร แล้วจึงเกิดปลุกปล้ำกัน โดยผู้ตายพยายามแย่งมีดจากจำเลยเพื่อทำร้ายจำเลย จำเลยจึงแทงผู้ตายอีกหลายที เช่นนี้ถือว่าภยันตรายยังไม่หมดไป การที่จำเลยซึ่งเป็นหญิงและอยู่ในภาวะเช่นนั้นใช้มีดแทงผู้ตายจึงเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น