*** ฎีกาที่น่าสนใจ วิ.แพ่ง มาตรา 24 ** (เน้นทุกตัวครับ)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9018/2547
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งตามคำฟ้องและจากการตรวจสอบของโจทก์ทั้งสามว่าเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน
1 แปลง ซึ่งจำเลยที่ 1
ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนให้แก่ตนเองเมื่อวันที่ 10
สิงหาคม 2535 ไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์มรดกอื่นอีก ดังนี้
ย่อมเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายได้ตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 182 (4) โดยไม่จำต้องทำการชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์จำเลยก่อน
และการที่ทรัพย์มรดกมีเพียงที่ดินพิพาท 1 แปลง ซึ่งจำเลยที่ 1
ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1
เป็นผู้รับมรดกตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2535
ถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงในวันดังกล่าวแล้ว
เมื่อโจทก์ทั้งสามซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกเห็นว่าการจัดการมรดกไม่ชอบโจทก์ทั้งสามก็ฟ้องภายในเวลาไม่เกิน
5 ปี นับแต่วันที่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง
คือภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2540
แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2544
สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733
วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6013/2549
ในวันนัดไต่สวนคำร้องนัดแรกวันที่ 29
เมษายน 2545
ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่าได้ตรวจคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดิน
ข้อคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสองแล้ว
เห็นว่าพอวินิจฉัยได้ให้งดไต่สวนพยานทั้งสองฝ่าย
นัดฟังคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีในวันที่ 24 พฤษภาคม 2545
เช่นนี้เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินของผู้ร้องและคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสอง
มิได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วย
ป.วิ.พ. มาตรา 24
และคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองมิได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483
มาตรา 153 (เดิม)
การกระทำในระหว่างระยะเวลา 3 ปี
ก่อนมีการขอให้ล้มละลายตามบทบัญญัติมาตรา 114 (เดิม)
แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 คือ ก่อนมีการฟ้องขอให้ล้มละลาย
เมื่อการโอนที่ดินพิพาทในคดีนี้กระทำเมื่อวันที่ 22
ตุลาคม 2535 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16
ตุลาคม 2538 จึงเป็นการโอนภายในระยะเวลา 3 ปี
ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 544/2551
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ให้ยกฟ้องจำเลยกับให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นสืบพยานหลักฐานเฉพาะของโจทก์และจำเลยแล้วมีคำพิพากษาใหม่
ในการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว
เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีมีเหตุสมควรที่จะวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายเรื่องฟ้องซ้อนอันเป็นประเด็นพิพาทแห่งคดีที่ได้ชี้สองสถานกำหนดเป็นประเด็นพิพาทไว้
ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะสั่งงดสืบพยานและวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้ได้ตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 24 ไม่เป็นการขัดต่อคำพิพากษาศาลฎีกา
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1
กับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูง โดยอ้างอำนาจตาม
พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511
แต่มิได้ดำเนินการตามขั้นตอนในมาตรา 28 (2) (ข)
(ค) ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับคดีก่อนที่โจทก์ยกข้ออ้างว่า จำเลยที่ 1
กับพวกร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างขุดดินปักเสาไฟฟ้าในที่ดินของโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แม้ที่ดินอีก 15 แปลง ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1
กระทำไม่ชอบด้วยกฎหมายในคดีนี้ โจทก์ไม่ได้ฟ้องในคดีก่อน
แต่ที่ดินเหล่านี้อยู่ในโครงการปรับปรุงสายส่งไฟฟ้าเดิมที่โจทก์ฟ้องคดีก่อน
จึงเป็นเรื่องเดียวกัน ขณะคดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1
กับพวกอีก ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 1
จึงเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13180/2553
ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดชี้สองสถาน
ศาลได้สอบถามข้อเท็จจริงจากโจทก์จำเลยแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้และนัดฟังคำพิพากษา
เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งก่อนที่จะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี
จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) และมิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา
24 เพราะศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า
กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่
988/2547 ของศาลชั้นต้น
และจำเลยก็อ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความเช่นกันข้อโต้เถียงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบังคับคดี
ต้องไปว่ากล่าวกันในคดีเดิม
จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีโดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ได้ความจากการสอบถามโจทก์จำเลย
มิได้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายที่พิพาทกันในคดี ดังนั้น
เมื่อนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นเวลา
14 วัน โจทก์ย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะโต้แย้งคำสั่งนั้นได้
แต่มิได้โต้แย้ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3933/2548
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้วินิจฉัยข้อกฎหมายว่า
โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 เนื่องจากจำเลยที่ 3 มิใช่บุคคลหรือนิติบุคคล
ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 และให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่เป็นคุณแก่จำเลยผู้ขอ
จึงไม่เป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24
และถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ดังนั้น
จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวในระหว่างพิจารณา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น