*** นี่คือคำพิพากษา ที่น่าสนใจ ของ ม.27 (เน้นทุกตัว ) บางตัวให้นำไปใช้ใน การสอบ วิ.อาญา ด้วย โดยนำ ม.15 แห่ง วิ.อาญามาประกอบการใช้ ดังนี้**
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9181/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 182 วรรคสอง มีจุดมุ่งหมายให้คู่ความได้ทราบคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกา ดังนั้นเมื่อในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลได้จดรายงานกระบวนพิจารณาว่า ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้โจทก์ฟังแล้ว โดยผู้รับมอบฉันทะทนายโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ โดยมิได้โต้แย้งทันทีว่าการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ซึ่งต่อมาโจทก์ก็ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าคดีมีมูล แสดงว่าโจทก์ทราบคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว จึงต้องถือว่าการอ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11903/2554
โจทก์ยื่นคำร้องว่าเดิมโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีรวม 7 คน รับรองให้โจทก์ฎีกา แต่ผู้พิพากษา 2 คน ไม่รับรองให้ฎีกา จึงเหลือผู้พิพากษาอีก 5 คน ที่ยังไม่ได้พิจารณารับรอง การที่ศาลชั้นต้นรับฟังว่าผู้พิพากษาที่มีสิทธิรับรองฎีกาไม่อนุญาตให้ฎีกา และมีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ จึงเป็นคำสั่งที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และมีคำสั่งให้ส่งคำร้องให้ผู้พิพากษาอีก 5 คน พิจารณารับรองแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของโจทก์ โจทก์ต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคหนึ่ง กรณีไม่ใช่เป็นการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ต้องส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ไปยังศาลฎีกา การที่ศาลชั้นต้นส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ไปยังศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7898/2554
ในการไต่สวนคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลย แม้ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งวันนัดไต่สวนให้โจทก์ร่วมทั้งสองมีโอกาสคัดค้านก่อน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งคู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคแรก ก็ตาม แต่การที่จะขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น ตามวรรคสองของมาตราดังกล่าวกำหนดให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายต้องยกข้อค้านเรื่องผิดระเบียบขึ้นไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความ หรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น
คดีปรากฏตามสำนวนว่าศาลชั้นต้นเบิกจำเลยซึ่งต้องขังอยู่ในเรือนจำกลางนครศรีธรรมราชมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2548 ซึ่งจะครบกำหนดที่จำเลยต้องยื่นฎีกาในวันที่ 23 ธันวาคม 2548 และศาลชั้นต้นนัดฝ่ายโจทก์มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 วันที่ 19 ธันวาคม 2548 โจทก์ร่วมทั้งสองได้รับสำเนาฎีกาของจำเลยเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2549 และทนายโจทก์ร่วมทั้งสองทำคำแก้ฎีกามายื่นต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2549 ดังนี้ ทนายโจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งปรากฏว่าได้รับหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ด้วยย่อมเห็นได้จากสำเนาฎีกาของจำเลยว่า จำเลยยื่นฎีกาลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2549 ภายหลังวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้ฝ่ายโจทก์ฟังเป็นเวลาถึง 2 เดือน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าจำเลยจะต้องยื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนด 1 เดือน นับแต่จำเลยได้ฟังคำพิพากษา ย่อมทราบถึงการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้จำเลยโดยไม่ได้ให้โจทก์ร่วมทั้งสองมีโอกาสคัดค้านคำร้องของจำเลยตั้งแต่ได้รับสำเนาฎีกาจากโจทก์ร่วมทั้งสองก่อนจะยื่นคำแก้ฎีกาในวันที่ 7 มีนาคม 2549 แล้ว ซึ่งถือว่าโจทก์ร่วมทั้งสองได้ทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างที่ขอให้เพิกถอนการพิจารณาตามคำร้องนับแต่นั้นแล้ว แต่โจทก์ร่วมทั้งสองมิได้ยื่นคำร้องอย่างช้าภายใน 8 วัน นับแต่ทราบพฤติการณ์ดังกล่าวตามที่กฎหมายกำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ โดยโจทก์ร่วมทั้งสองเพิ่งมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้จำเลยเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2549 คำร้องของโจทก์ร่วมทั้งสองจึงยื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ยกคำร้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1898/2554
ปัญหาว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้คู่ความถือเอาคำให้การของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความในชั้นพิจารณาแล้วให้ทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน เป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง เพราะไม่ได้กระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ ก็สามารถยกขึ้นเป็นเหตุฎีกาได้ และคู่ความฝ่ายที่เสียหายจากการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบอาจยกปัญหานั้นขึ้นว่ากล่าวได้ในเวลาใดๆ ก่อนศาลมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ก่อนเบิกความโจทก์เป็นฝ่ายเสนอโดยแถลงว่าจะขอถือคำให้การพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำให้การของพยานในชั้นพิจารณาเพราะทนายโจทก์จะถามพยานเช่นเดียวกับในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ทนายจำเลยทั้งสามยอมรับ และศาลชั้นต้นอนุญาตให้คู่ความปฏิบัติตามที่ตกลงกัน โดยทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านและทนายโจทก์ถามติงแล้วต่างฝ่ายต่างสืบพยานมาจนเสร็จสิ้น โจทก์ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการดำเนินกระบวนพิจารณาในการสืบพยานปากนั้นเป็นการกระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยเพียงแต่โจทก์ขอให้ถือเอาคำเบิกความของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณา ก็เป็นวิธีการของโจทก์เองที่เลือกเสนอพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยด้วยวิธีนี้ ศาลไม่มีหน้าที่ต้องทักท้วงเสนอแนะว่าพยานหลักฐานเช่นนี้ใช้ลงโทษจำเลยได้หรือไม่ ฎีกาของโจทก์จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 858 - 861/2554
อำนาจในการดำเนินคดีอาญาแทนต้องพิจารณาถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆ ว่า ผู้กระทำการแทนโจทก์นั้นมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในขณะนั้นหรือไม่เป็นสำคัญ หากมีการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่มีอำนาจอันเป็นการไม่ชอบแล้ว ก็ชอบที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ดำเนินกระบวนพิจารณานั้นหรือหากอนุญาตไปก่อนแล้วโดยผิดหลงก็ต้องสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสีย เพื่อจักได้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายต่อไป หาใช่กรณีมีเหตุจำเป็นในการคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้สุจริตที่จะต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 831 มาใช้บังคับแต่อย่างใด เมื่อการถอนฟ้องกระทำโดยผู้ที่ไม่มีอำนาจถอนฟ้องแทนโจทก์จึงไม่ชอบ การที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีไปโดยผิดหลง ย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบที่ต้องเพิกถอนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7390 - 7391/2553
การร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เป็นอำนาจของศาลที่จะทำไต่สวนได้ตามที่เห็นสมควร ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (4) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่ถ้าข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนปรากฏต่อศาลโดยชัดแจ้งว่า มิได้มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบศาลย่อมมีอำนาจสั่งยกคำร้องได้โดยไม่จำต้องไต่สวน
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล และการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลย่อมเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะเมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่มีเหตุมีจะเรียก ว. มาสอบถามและหากโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจาก ว. โจทก์ร่วมชอบที่จะไปดำเนินคดีต่างหากก่อน ถือได้ว่าศาลชั้นต้นชี้ขาดในเรื่องการละเมิดอำนาจศาลแล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ โจทก์ย่อมมิใช่ผู้เสียหายอันจะมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5681/2553
แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์โดยไม่แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบก่อน แต่ในวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตดังกล่าวก็เป็นวันที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนคำร้องขอให้ขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 1 ด้วย ทนายความของจำเลยที่ 1 มาศาลและแถลงขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นบันทึกรายงานกระบวนพิจารณาว่า สอบทนายโจทก์และทนายผู้สวมสิทธิโจทก์แล้วไม่ค้าน กรณีดังกล่าวย่อมแสดงว่าทนายความของจำเลยทั้งสองทราบในวันนั้นแล้วว่าผู้ร้องได้รับอนุญาตให้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เช่นกันเมื่อจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งที่ผิดระเบียบดังกล่าวของศาลชั้นต้นภายใน 8 วันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง จำเลยที่ 1 ย่อมหมดสิทธิคัดค้านกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4655/2553
จำเลยย้ายภูมิลำเนาจากบ้านเลขที่ 710/85 ไปที่บ้านเลขที่ 1/163 ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2539 ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ปิดหมายตามคำแถลงของผู้ร้องขอรับชำระหนี้จำนอง นอกจากนี้ ปรากฏว่า คดีหลักของคดีนี้ถึงที่สุดแล้วก่อนจำเลยย้ายภูมิลำเนา จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องดำเนินการแจ้งย้ายภูมิลำเนาในคดีหลักอีกต่อไปและไม่อาจถือได้ว่าภูมิลำเนาในคดีหลักยังเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการในการดำเนินคดีนี้ของจำเลย การส่งหมายนัดไต่สวนคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นของผู้ร้องแก่จำเลยตามภูมิลำเนาเดิมจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 74(2) ย่อมเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4572/2553
ศาลชั้นต้นสั่งในคำคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทของโจทก์ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2542 ว่า รับรวม เท่ากับศาลชั้นต้นไม่เพิกถอนประเด็นข้อพิพาท ถือว่าศาลชั้นต้นได้ชี้ขาดคำคัดด้านของโจทก์ก่อนวันสืบพยานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 183 วรรคท้าย เมื่อศาลชั้นต้นโดยองค์คณะผู้พิพากษาที่ได้รับสำนวนต่อมาเห็นว่า ประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้เดิมไม่ถูกต้องศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนประเด็นข้อพิพาทตามที่ศาลเห็นสมควรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ในคำพิพากษาได้
จำเลยไม่ได้ให้การในเรื่องหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมเกิดขึ้นโดยการสมยอมกัน โจทก์ไม่มีอำนาจฟัอง ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2897/2553
ศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และสืบพยานจำเลยในวันที่ 24 เมษายน 2549 เวลา 9 นาฬิกาเมื่อถึงวันนัดในช่วงเช้า ทนายโจทก์และผู้รับมอบอำนาจโจทก์มาศาลและไปคอยอยู่ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 2 แต่เนื่องจากคดีนี้ย้ายไปพิจารณาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 5 จึงไม่พบสำนวนคดีนี้ ทนายโจทก์จึงไปสอบถามเจ้าหน้าที่ศูนย์หน้าบัลลังก์ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์หน้าบัลลังก์ลงเวลานัดพิจารณาผิดพลาดเป็นช่วงบ่าย ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และทนายโจทก์จึงไม่ได้เข้าห้องพิจารณาคดีที่ 5 ในช่วงเช้า โดยรออยู่ที่ศาลจนถึงช่วงบ่าย เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าผู้รับมอบอำนาจโจทก์และทนายโจทก์มาศาลตามกำหนดนัดแล้ว แต่เป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ศาลเองที่ทำให้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และทนายโจทก์ไม่ได้เข้าห้องพิจารณาคดี เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นเข้าใจว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ การจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นเป็นการสั่งโดยผิดหลง ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวเสียได้ตามที่ ป.วิ.พ. มาตรา 27 ให้อำนาจไว้ โดยไม่จำต้องมีคู่ความฝ่ายใดร้องขอ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น