คำสั่งชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย ไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา (มาตรา 227,228) คู่ความอุทธรณ์ฎีกาได้โดยไม่ต้องโต้แย้งไว้ (ฎ. 3425/32)
การชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา 24 ต้องเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมาย ถ้าปัญหาที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ก็ไม่ใช่การชี้ขาดตามมาตรานี้ และเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามมาตรา 226 (ฎ.3520/24, 1282/35)
ข้อสังเกต ในทางปฎิบัติ ก่อนศาลจะมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น ศาลจะมีคำสั่งให้งดสืบพยานก่อน แล้วจึงมีคำพิพากษา ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าคำสั่งงดสืบพยานเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาหรือไม่ การวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา 24 เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมาย และถือว่าคำสั่งงดสืบพยานไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ตามมาตรา 227,228 อุทธรณ์ได้ทันที หรืออุทธรณ์ได้ภายหลังมีคำพิพากษาโดยไม่ต้องโต้แย้งไว้ก่อน แต่ถ้าศาลวินิจฉัยโดยอาศัยข้อเท็จจริง ก็ไม่ต้องด้วยมาตรา 24 ไม่เข้าข้อยกเว้นว่าไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ตามมาตรา 227,228 แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามมาตรา 226
บางกรณีมีความยุ่งยากพอสมควรที่จะแบ่งแยกว่า กรณีใดเป็นการชี้ขาดข้อกฎหมายตามมาตรา 24 หรือวินิจฉัยโดยอาศัยข้อเท็จจริง แต่ก็พอจะแบ่งแยกได้ว่า ถ้าศาลเพียงแต่พิเคราะห์จากคำฟ้องและคำให้การแล้วมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยและวินิจฉัยข้อกฎหมาย ดังนี้เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมายมาตรา 24 (ฎ. 3833/28,956/36,6902/43)
แต่ถ้ามีการสอบข้อเท็จจริงจากคู่ความ หรือเมื่อมีการสืบพยานไปบ้างแล้ว จึงสั่งให้งดสืบพยาน ต่อมามีคำพิพากษาโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบคู่ความหรือจากพยานที่ได้สืบไปแล้ว มิใช่การวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา 24 จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา (ฎ. 2308/20, 2158/37)
ตามมาตรา 24 บัญญัติว่า ต้องเป็นกรณีหากวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่ฝ่ายที่ขอให้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นหลักสำคัญประการหนึ่งของการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าศาลต้องสั่งเป็นไปในทางเป็นคุณแก่ผู้ขอ เช่น ฟังว่าคดีขาดอายุความ หรือฟ้องโจทก์เคลือบคลุม พิพากษาให้ยกฟ้อง
ถ้าคำชี้ขาดเบื้องต้นนั้นไม่เป็นคุณแก่ผู้ขอ ก็ไม่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา 24 แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา (ฎ. 3933/48, 226/04)
ถ้าหากศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นแล้ว (เป็นคุณแก่ผู้ขอ) แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์ยก คำสั่งชี้ขาดเบื้องต้นของศาลชั้นต้น (ไม่เป็นคุณ) ดังนี้ คู่ความฎีกาได้ (ฎ. 268/91 ป.) ที่เป็นเช่นนี้เพราะเมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเช่นนั้นแล้ว คดีก็ย่อมกลับมาสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นอีก และเสร็จจากศาลอุทธรณ์ จึงไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์
นอกจากนี้กรณีที่ศาลยังไม่ได้สั่งในเนื้อหาคำขอ แต่สั่งให้รวมวินิจฉัยคำร้องในคำพิพากษา (ฎ. 462/08) หรือคำสั่งไม่รับวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น (ฎ. 1032/94) ซึ่งไม่เป็นคุณแก่ผู้ขอ ก็เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เช่นกัน
เมื่อมีคำขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย เป็นดุลพินิจของศาลที่จะวินิจฉัยชี้ขาดในระหว่างนั้น หรือจะรอไว้วินิจฉัยพร้อมคำพิพากษาก็ได้ (ฎ. 1254/17)
การขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 24 นี้ ขอได้เฉพาะคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จะมาขอในชั้นอุทธรณ์ หรือฎีกาไม่ได้ (คร. 1346/28,ฎ. 945/36)
การขอให้ศาลชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย หากศาลไม่วินิจฉัยให้ ย่อมมีสิทธิยื่นคำขอนั้นได้อีก ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ (ฎ. 3574/36)
การวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 24 นี้ ศาลอาจเห็นสมควรชี้ขาดเบื้องต้นเองหรือคู่ความมีคำขอให้ชี้ขาด ดังนั้นในกรณีที่คู่ความขอให้ศาลชี้ขาดโดยอ้างเหตุหนึ่ง ศาลก็อาจชี้ขาดโดยอ้างอีกเหตุหนึ่งได้ (ฎ.1102/06)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น