จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

**** อำนาจฟ้อง (มาตรา 55) ***


อำนาจฟ้องในคดีไม่มีข้อพิพาท 
ในกรณีที่บุคคลจะใช้สิทธิทางศาลโดยทำเป็นคำร้องขอ เป็นคดีไม่มีข้อพิพาทนี้เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติรับรองไว้ให้ใช้สิทธิทางศาลได้ เช่น ผู้ที่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองตามที่ประมวลกฎหมายที่ดินบัญญัติไว้ หรือการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 
สำหรับกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ผู้ใดใช้สิทธิทางศาลได้ ก็ไม่มีอำนายื่นคำร้องขอต่อศาลได้ เช่น เมื่อมีการทำนิติกรรมยกที่ดินให้ผู้ใดไปแล้ว ไม่มีบทบัญญัติให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่านิติกรรมการยกให้เป็นโมฆะได้ (ฎ. 4530/41) หรื อ กรณีที่ผู้ร้องขอให้ศาลสั่งว่าตนเป็นคนๆเดียวกับนายสมศักดิ ไม่มีกฎหมายรับรองให้ทำได้ หากมีผู้ใดโต้แย้งว่าผู้ร้องไม่ใช่บุคคลคนเดียวกับนายสมศักดิ์ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง ย่อมมีสิทธิฟ้องเป็นคดีมีข้อพิพาทได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว ( ฎ. 157/25, 100/24)
ข้อสังเกต การขอให้ศาลแสดงว่าได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครอง(ปรปักษ์)นั้น กฎหมายบัญญัติรับรองให้กระทำเฉพาะการได้มาซึ่งที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เท่านั้น (ป.พ.พ. มาตรา 1382) สำหรับที่ดินที่มีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 หรือ น.ส. 3 ก.) หรือที่ดินที่มีแบบแจ้งการครอบครอง( ส.ค.1) หรือที่ดินที่ไม่มีหลักฐานแสดงสิทธิใดๆนั้น ไม่มีกฎหมายรับรองให้ยื่นคำร้องขอให้ศาลแสดงสิทธิครอบครองได้ดังเช่นการได้มาซึ่งที่ดินมีกรรมสิทธิ์แล้ว ผู้ครอบครองที่ดินจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลแสดงว่าตนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าว (ฎ. 5389/49, 248/37) อย่างไรก็ตามก็เป็นการยื่นคำร้องขอต่อศาลเป็นกรณีที่ไม่มีการโต้แย้งสิทธิ แต่มีความจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล ดังนี้ถ้าผู้ครอบครองโต้แย้งสิทธิเป็นจำเลย ก็เป็นคดีที่มีข้อพิพาท (ฎ. 6536/44)
โจทก์จะฟ้องให้ศาลแสดงว่าตนไม่เป็นหนี้จำเลย ไม่ได้ ได้แต่จะยกเป็นข้อต่อสู้ในเมื่อฟ้องเป็นจำเลย (ฎ. 3061/22)

อำนาจฟ้องในคดีมีข้อพิพาท
กรณีมีผู้กระทำละเมิดต่อสาธรณสมบัติของแผ่นดิน ย่อมทำให้รัฐรับความเสียหาย เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ดูแลรักษาจึงมีอำนาจฟ้องผู้ทำละเมิดได้ ส่วนประชาชนทั่งไปจะมีอำนาจฟ้อง ก็ต่อเมื่อได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ เช่นจำเลยปิดกั้นทางสาธารณะ เป็นเหตุให้โจทก์ใช้ทางเดินตามปกติไม่ได้ โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนได้ ส่วนผู้ที่ไม่ได้ใช้ทางเดินดังกล่าวไม่ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ ไม่มีอำนาจฟ้อง หรือกรณีจำเลยเพียงแต่ยื่นคำร้องขอออก น.ส. 3 หรือโฉนดที่ดินในที่สาธรณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งโจทก์ ใช้ประโยชน์อยู่ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยขัดขวางการใช้ประโยชน์ของโจทก์ในที่ดินนั้น ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง (ฎ. 173/41) 
ผู้เช่ามีอำนาจฟ้องผู้ที่ทำละเมิดแก่ทรัพย์สินที่ให้เช่า (ฎ.2204/42) หลังจากฟ้องขับไล่ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินได้โอนที่ดินให้ผู้อื่นไป อำนาจฟ้องของโจทก์ก็ไม่เสียไป (ฎ.3574/42)
ผู้ที่จะฟ้องหรือถูกฟ้องในศาลได้นั้นจะต้องเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล รัฐบาลไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นนิติบุคคล จึงเป็นคู่ความไม่ได้ (ฎ. 724/90) นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ไม่เป็นนิติบุคคล ได้แก่ คณะบุคคล (ฎ. 495/19), กองมรดก (ฎ. 1583/21) เหล่านี้เป็นคู่ความไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามตำแหน่งหน้าที่ราชการบางตำแหน่งอาจเป็นโจทก์หรือจำเลยได้เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่งหน้าที่นั้นๆ เช่น ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ตำแหน่งนายอำเภอ ตำแหน่งอธิบดี ตำแหน่งพนักงานสอบสวน ฯ เนื่องจากเป็นการปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่งราชการ ไม่ใช่กระทำในฐานะส่วนตัวของผู้ที่ดำรงตำแหน่งนั้น เพราะฉะนั้นในขณะฟ้องแม้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งจะไม่ใช่ผู้ที่ทำสัญญาอันเป็นมูลฟ้องร้อง ก็มีอำนาจฟ้อง (ฎ. 2555/24, 259/38) 
โดยเหตุผลเดียวกัน หากขณะยื่นฟ้องพนักงานสอบสวนผู้ทำสัญญาประกันย้ายไปรับราชการที่อื่นแล้ว พนักงานสอบสวนผู้นั้นก็ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับตามสัญญาประกันของสถานีตำรวจนั้นได้อีก (ฎ. 2223/28)
ตามสัญญาระบุว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้เสนอให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด โจทก์ฟ้องคดีโดยมิได้เสนอให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อนไม่ได้ (ฎ. 5448/34)
แต่ถ้าภายหลังเกิดข้อพิพาทแล้ว คู่กรณีตกลงกันเองโดยไม่ได้ตั้งอนุญาโตตุลาการก่อน โจทก์มีสิทธินำคดีมาสู่ศาลได้ (ฎ. 1439/17) 
การฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ลูกหนี้โอนทรัพย์สินให้บุคคลอื่น ต้องฟ้องทั้งลูกหนี้และบุคคลภายนอกเข้ามาทั้งสองคน จะฟ้องคนใดคนหนึ่งไม่ได้ การที่เจ้าหนี้ฟ้องทั้งสองคนเข้ามาด้วยกันแล้ว แต่ภายหลังโจทก์จะทิ้งฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ ก็ถือเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้อง ดังนี้ถือว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องลูกหนี้เข้ามาในคดีเลย ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนได้ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนได้ (ฎ. 7247/37)
เจ้าของรวมคนหนึ่งมีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้ทำละเมิดได้ (ฎ. 2604/40)
ทายาทที่ถูกฟ้องให้รับผิดในหนี้ของเจ้ามรดก จะต่อสู้ว่าไม่มีทรัพย์มรดกตกทอด หรือตนไม่รับมรดกไม่ได้ (ฎ. 5279/48) เรื่องนี้เมื่อจำเลยทั้งห้าเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ ส.ผู้ตาย ซึ่งต้องรับไปทั้งทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของ ส. โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โดยไม่ต้องไปคำนึงว่ากองมรดกของ ส. จะมีทรัพย์สินหรือไม่ มากน้อยเพียงใด หรือจำเลยทั้งห้าจะได้รับมรดกหรือไม่ 
มีข้อสังเกต ความรับผิดของทายาทย่อมไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601 ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องโต้แย้งในชั้นบังคับคดี คดีนี้ศาลฎีกาก็ได้พิพากษาให้จำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทร่วมกันชำระเงิน แต่ทั้งนี้ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1601 

การดำเนินคดีของผู้ไร้ความสามารถ (มาตรา 56) 
ผู้ไร้ความสามารถตามมาตรา 56 หมายถึง ผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ 
ผู้พิทักษ์ของผู้เสมือนไร้ความสามารถนั้น ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้เสมือนไร้ความสามารถ คงมีหน้าที่ให้ความยินยอมแก่ผู้เสมือนไร้ความสามารถให้ฟ้องคดีเองเท่านั้น (ฎ. 905/23)
สำหรับกรณีผู้เยาว์อยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดา บิดามารดาจึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งมีสิทธิฟ้องคดีแทนผู้เยาว์ได้ (ฎ. 1114/35)
ข้อสังเกต ความบกพร่องในเรื่องความสามารถของคู่ความในการฟ้องคดีไม่ใช่เรื่องอำนาจฟ้อง ดังนั้น ศาลจะยกเอาความบกพร่องในความสามารถนี้มาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ ศาลจะต้องสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวตามมาตรา 56 วรรคสอง จึงจะถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ถูกต้องตามขั้นตอน (ฎ.1743/27)
นอกจากนี้มาตรา 56 วรรคสอง ศาลมีอำนาจสั่งแก้ไขให้บริบูรณ์ไม่ว่าเวลาใดๆก่อนมีคำพิพากษา กรณีจึงไม่ใช่เรื่องแก้ไขคำฟ้อง หรือคำให้การ จึงไม่อยู่ในบังคับว่าจะต้องทำเป็นคำร้องต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ดังเช่นการแก้ไขคำฟ้อง หรือคำให้การตามมาตรา 180 (ฎ. 3443/24,435/17)
โดยเหตุผลเดียวกัน แม้จะสืบพยานเสร็จแล้ว ก็อาจมีการแก้ไขข้อบกพร่องได้ (ฎ. 2302/18) ยิ่งกว่านั้นแม้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้ว โจทก์ก็ยังแก้ไขข้อบกพร่องในชั้นศาลสูงได้ (ฎ. 2096/23, 4090/33) และคำว่า ไม่ว่าเวลาใดๆก่อนมีคำพิพากษา... นั้น มิได้หมายถึงก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา เพราะบทบัญญัติดังกล่าว เป็นบทบัญญัติทั่วไปที่ใช้ได้ในทุกชั้นศาล 
ในกรณีที่บิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายฟ้องคดีแทนบุตรผู้เยาว์ไว้แล้ว ต่อมาบิดามารดาจดทะเบียนสมรสกัน ถือว่าเหตุบกพร่องในเรื่องความสามารถหมดไปแล้ว ฟ้องย่อมสมบูรณ์มาแต่ต้น (ฎ. 2741/32)
บางกรณีความสามารถของคู่ความบริบูรณ์ขึ้นในระหว่างพิจารณา ศาลก็ไม่จำต้องสั่งให้แก้ไขอีก เช่น ผู้เยาว์ฟ้องคดีเองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ระหว่างพิจารณาผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ (ฎ. 1638/11, 623/19) 
การตั้งผู้แทนเฉพาะคดีตามมาตรา 56 วรรคสี่ มีข้อสังเกตว่าจะมีการตั้งผู้แทนเฉพาะคดีได้ในกรณีผู้ไร้ความสามารถไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้แทนโดยชอบธรรมทำหน้าที่ไม่ได้ ถ้าหากมีผู้แทนโดยชอบธรรมโดยผู้แทนโดยชอบธรรมนั้นยังทำหน้าที่ได้แต่ไม่ให้ความยินยอม หรือไม่เข้ามาดำเนินคดีแทน จะตั้งผู้แทนเฉพาะคดีไม่ได้ (ฎ. 1215/92)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น