จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สรุป วิ.อาญา มาตรา 19

กรณีความผิดเกิดขึ้นหลายท้องที่ (มาตรา 19) 
พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้แก่
ก. ถ้าจับผู้ต้องหาได้แล้ว คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจ
ข. ถ้าจับผู้ต้องหายังไม่ได้ คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อน อยู่ในเขตอำนาจ 

กรณีไม่แน่ว่าการกระทำความผิดอาญา กระทำในท้องที่ใด (มาตรา 19(1))
- แจ้งความต่อเจ้าพนักงานท้องที่หนึ่ง และไปเบิกความต่อศาลอีกท้องที่หนึ่งซึ่งยังไม่แน่ว่าจะเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จหรือเบิกความเท็จ พนักงานสอบสวนท้องที่ใดท้องที่หนึ่งดังกล่าวมีอำนาจสอบสวนได้ (ฎ. 822/90)
กรณีความผิดต่อเนื่องหลายท้องที่ (มาตรา 19(3))
- ความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดต่อเนื่องกับความผิดฐานลักทรัพย์ หรือชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ ฯ ตามที่ระบุไว้ใน ป.อ. มาตรา 357 ดังนั้น กรณีที่ความผิดฐานลักทรัพย์ และรับของโจร เกิดต่างท้องที่กัน พนักงานสอบสวนในท้องที่ความผิดฐานลักทรัพย์เกิดขึ้น ย่อมมีอำนาจสอบสวนในความผิดฐานรับของโจรได้ด้วย (ฎ. 1180/37, 3903/31)
- ความผิดฐานออกเช็คไม่มีเงิน ตาม พ.ร.บ.เช็คฯ ถือว่าท้องที่ที่จำเลยออกเช็คเป็นความผิดต่อเนื่องกับท้องที่ที่ธนาคารตามเช็คปฎิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้น พนักงานสอบสวนท้องที่ใดท้องที่หนึ่งดังกล่าวมีอำนาจสอบสวนตามมาตรา 19 (3) (ฎ. 1702/23 ป.) , 2070/43
- ** จำเลยทั้งสองร่วมกันขายเมทแอมเฟตามีนโดยเจ้าพนักงานตำรวจวางแผนล่อซื้อ และจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ ในท้องที่ สน.บางขุนเทียน จำเลยที่ 2 ได้พาตำรวจ สน.บางขุนเทียนไปจับกุมจำเลยที่ 1 ได้ในท้องที่ สน.วัดพระยาไกร ถือว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดซึ่งหน้า และเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันทั้งในท้องที่ สน.บางขุนเทียน และสน.วัดพระยาไกร พนักงานสอบสวนทั้งสองสถานีมีอำนาจสอบสวนตามมาตรา 19 (3) ส่วนพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้แก่ พงส. สน.บางขุนเทียน ตามมาตรา 19 (ก) (ฎ. 1259/42) 
- กรณีความผิดต่อ พ.ร.บ.เช็ค ฯ หากเป็นกรณีที่ผู้เสียหายฟ้องเอง สถานที่เกิดเหตุมีเพียงสถานที่เดียวคือ สถานที่ที่ธนาคารตามเช็คปฎิเสธการใช้เงิน (ฎ. 857/30, 1229/19 ป.) แต่ถ้าอัยการฟ้อง จะมีที่เกิดเหตุ 2 แห่งคือสถานที่ออกเช็ค และสถานที่ที่ธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้นถ้ามีการสอบสวนในท้องที่ที่ออกเช็ค ซึ่งถือว่าเป็นความผิดต่อเนื่องกับท้องที่ที่ธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงิน อัยการจึงฟ้องได้ตามมาตรา 22(1) (ฎ. 1702-3/23 ป.) ซึ่งเป็นการโยงมาตรา 19 (3) กับ มาตรา 22(1) 

กรณีความผิดหลายกรรมกระทำในท้องที่ต่างๆ มาตรา 19(4) 
- ผู้เสียหายร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาตาม พ.ร.บ.เช็คฯ ต่อ พงส. สภ.เมืองนราธิวาส ซึ่งเป็นท้องที่ที่ความผิดเกิด แต่ขณะเดียวกันจำเลยก็ได้ไปแจ้งความต่อ พงส. สภ.สุไหงโกลก ว่าเช็คดังกล่าวหาย พนักงานอัยการเห็นว่าการแจ้งความดังกล่าวเป็นความผิดฐานฉ้อโกงและแจ้งความเท็จ จึงสั่งให้ พงส.สภ.เมืองนราธิวาส สอบสวนเพิ่มเติมและแจ้งข้อหาต่อจำเลยเพิ่มเติม ดังนี้ พงส.สภ.เมืองนราธิวาส ย่อมมีอำนาจสอบสวน จำเลยในข้อหาแจ้งความเท็จได้ เพราะจำเลยถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่างๆ กันตาม มาตรา 19(4) และเมื่อเป็นความผิดหลายกระทงย่อมฟ้องรวมกันในฟ้องเดียวกันได้ตามมาตรา 160 ทั้งความผิดฐานแจ้งความเท็จ เป็นความผิดที่มีโทษเบากว่าความผิดฐานฉ้อโกงและความผิดตาม พ.ร.บ.เช็คฯ “ แม้จะเป็นการกระทำต่างกรรม ต่างสถานที่กัน แต่ก็ได้กระทำลงโดยจำเลย ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดคนเดียวกันและเป็นความผิดเกี่ยวพันกัน” (ฎ. 3430/37) ซึ่งสามารถฟ้องคดีทุกเรื่องต่อศาลที่มีอำนาจชำระในฐานความผิดซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่า ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 24 ก็ได้ 

พนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ 
- เมื่อมีการจับจำเลยได้แล้ว พนักงานสอบสวนท้องที่ที่จับจำเลยได้ เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ (ฏ. 3585/46) หากพนักงานสอบสวนท้องที่อื่นที่มิใช่ท้องที่ที่จับจำเลยได้ ทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ เป็นการไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดนั้นโดยชอบตามมาตรา 120 พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง (ฎ. 3466/47)
- ถ้าจับผู้ต้องหาได้ ต้องเป็นการจับตัวในข้อหาเดียวกันด้วย ถ้าเป็นการจับในข้อหาอื่น จะถือว่าพนักงานสอบสวนในท้องที่นั้น เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตามมาตรา 19 วรรคสาม (ก) ไม่ได้ เช่น จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ หรือรับของโจรในท้องที่หนึ่ง แต่ไปถูกจับตัวได้อีกท้องที่หนึ่งในข้อหาซ่องโจร ดังนี้ไม่ถือว่าเป็นการจับกุมจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ หรือรับของโจรด้วย พนักงานสอบสวนในท้องที่จับกุมจำเลยได้จึงไม่ใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตามมาตรา 19 วรรคสาม (ก) นี้ (ฎ. 1579/46) 
- ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง เป็นการแยกว่าแม้พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวน แต่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน(รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดทุกท้องที่และสรุปสำนวน) ต้องเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนท้องที่จับผู้ต้องหาได้ ถ้าจับตัวยังไม่ได้เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนท้องทีที่พบการกรทำความผิดก่อนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หากพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบไม่เป็นไปตามมาตรา 19 วรรคสามบัญญัติไว้ ทำให้เกิดผลเสียแก่คดีได้ โดยถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนคดีนั้นโดยชอบ ตาม มาตรา 120 มีผลทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง (ฎ. 1974/39)
- *** ในกรณีที่จับตัวผู้ต้องหาได้ พนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามมาตรา 19 วรรคสาม (ก) ตามอนุมาตรานี้ น่าจะหมายถึงกรณีก่อนจับกุมผู้ต้องหายังไม่มีพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ กล่าวคือยังไม่ได้เริ่มทำการสอบสวนนั่นเอง เพราะถ้าเป็นกรณีที่มีความผิดเกิดขึ้นแล้วยังจับตัวผู้ต้องหาไม่ได้และมีการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจ พนักงานสอบสวนท้องที่พบการกระทำความผิดก่อนย่อมเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตามมาตรา 19 วรรคสาม (ข) เมื่อมีพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแล้ว แม้ต่อมาจะจับผู้ต้องหาได้ในท้องที่อื่นก็ตาม พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อน ก็ยังคงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบอยู่เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่กรณีตามมาตรา 19 วรรคสาม (ก) (ฎ. 1126/44, 4512/30)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น