คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13180/2553
|
|
ป.วิ.พ. มาตรา 24, 226(2), 227, 228
ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดชี้สองสถาน
ศาลได้สอบถามข้อเท็จจริงจากโจทก์จำเลยแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้และนัดฟังคำพิพากษา
เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งก่อนที่จะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี
จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) และมิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 24
เพราะศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า
กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่
988/2547 ของศาลชั้นต้น และจำเลยก็อ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความเช่นกันข้อโต้เถียงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบังคับคดี
ต้องไปว่ากล่าวกันในคดีเดิม จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีโดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ได้ความจากการสอบถามโจทก์จำเลย
มิได้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายที่พิพาทกันในคดี
ดังนั้น เมื่อนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นเวลา 14 วัน
โจทก์ย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะโต้แย้งคำสั่งนั้นได้ แต่มิได้โต้แย้ง
โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7423/2551
|
|
ป.พ.พ. มาตรา 6, 1382
ป.วิ.พ. มาตรา 24, 172 วรรคสอง ตาราง 1 (2) ท้าย
ป.วิ.พ.
ในชั้นยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์นั้น
ผู้ร้องทั้งสองเพียงแต่บรรยายให้ปรากฏว่าผู้ร้องทั้งสองได้ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบ
โดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลา 5 ปี หรือ 10 ปี แล้วแต่กรณี
ก็ถือว่าเป็นคำร้องที่ได้บรรยายโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ
ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามมาตรา 172 วรรคสอง แห่ง ป.วิ.พ. แล้ว
ส่วนผู้คัดค้านจะเป็นบุคคลภายนอกและได้ทรัพย์ที่ผู้ร้องทั้งสองร้องขอครอบครองปรปักษ์มาโดยสุจริตหรือไม่ไม่ใช่สภาพแห่งข้อหาหรือข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา
ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่จำต้องบรรยายมาในคำร้องขอ การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานผู้ร้องทั้งสองและพยานผู้คัดค้านแล้ววินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าผู้ร้องทั้งสองมิได้บรรยายให้ปรากฏในคำร้องว่า
ผู้คัดค้านมิใช่บุคคลภายนอก และซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยไม่สุจริต
ผู้คัดค้านจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 6
ว่ากระทำการโดยสุจริต
ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่อาจยกเรื่องการครอบครองปรปักษ์ซึ่งยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขึ้นยันผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วได้แล้วพิพากษายกคำร้องขอ
จึงเป็นการไม่ชอบ
แม้ตามอุทธรณ์และฎีกาจะขอให้ศาลสูงพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลล่างก็ตาม
แต่เมื่อผลของคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5
และศาลฎีกามีผลเพียงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีหรือไม่เท่านั้น
จึงเป็นการขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันมิอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้
ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ดังนั้น
จึงให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท
แก่ผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้าน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3101/2551
|
|
ป.พ.พ. มาตรา 193/34
ป.วิ.พ. มาตรา 24, 226
ในวันนัดสืบพยาน
ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากพยานโจทก์เกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิตและการชำระหนี้บัตรเครดิตของจำเลย
ทนายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงดังกล่าว
และรับว่าใบแจ้งหนี้ที่โจทก์อ้างส่งถูกต้องตามความเป็นจริง และไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงงดสืบพยานโจทก์
แล้วพิพากษาคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงตามที่ได้ความ
ถือไม่ได้ว่าเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24
คำสั่งศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานโจทก์จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา
โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์และประกอบธุรกิจให้บริการประเภทบัตรเครดิตมีลักษณะเป็นการทำกิจการงานให้บริการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกในการซื้อสินค้าและการใช้บริการ
ส่วนการให้สมาชิกเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าด้วยบัตรเครดิต
เป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการอำนวยความสะดวกดังกล่าว
โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่างๆ ให้แก่สมาชิก
การที่โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อนก็ดี
หรือให้สมาชิกเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าแล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลังก็ดี
ถือได้ว่าเป็นการเรียกเอาเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองไป
การฟ้องเรียกเงินทดรองของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1736/2551
|
|
ป.วิ.พ. มาตรา 24, 55, 142
พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
พ.ศ.2539 มาตรา
5
จำเลยที่ 3
ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปแจ้งความดำเนินคดีแก่ผู้บุกรุกที่ดินวัดตามที่มีผู้แจ้งให้ทราบในฐานะผู้แทนของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
มิได้ทำในฐานะส่วนตัวส่วนจำเลยที่ 2
ไปแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ตามที่ได้รับมอบอำนาจ การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่
3 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะผู้แทนของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานีการที่จำเลยที่
2 และที่ 3
ชักนำผู้อื่นให้ให้การต่อพนักงานสอบสวนในทางเดียวกันเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีอาญาและมีความเห็นสั่งฟ้องโจทก์ต่อพนักงานอัยการนั้นก็เป็นกรณีสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการดังกล่าวของจำเลยที่
2 และที่ 3 โจทก์ชอบที่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดต่อโจทก์ แต่จะฟ้องจำเลยที่ 2
และที่ 3 ให้รับผิดในมูลละเมิดที่จำเลยที่ 2 และที่ 3
กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ทั้งนี้ตาม
พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ.
มาตรา 142 (5) ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3
มิได้ยกปัญหานี้ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยโดยตรงในคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย
แต่หากศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3
ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1126/2551
|
|
ป.วิ.พ. มาตรา 24, 226
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยและนัดฟังคำพิพากษา
ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้พิพากษาคดีในวันดังกล่าวโดยนำข้อเท็จจริงจากที่คู่ความแถลงร่วมกันมาวินิจฉัยชี้ขาดคดี
ดังนั้น คำสั่งงดสืบพยานของศาลชั้นต้นในกรณีนี้เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 226 วรรคหนึ่ง มิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 24 หากโจทก์เห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมหรือมีการสืบพยานต่อไปก็ต้องโต้แย้งคำสั่งไว้
มิฉะนั้นต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 226 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 799/2551
|
|
ป.วิ.พ. มาตรา 24, 141
ศาลชั้นต้นได้สอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความเมื่อเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ได้แล้ว
ได้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหานั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24
ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีและให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวงไว้ชัดเจนแล้ว
แม้จะได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา
ก็ไม่ทำให้คำพิพากษาคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงและไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 544/2551
|
|
ป.วิ.พ. มาตรา 24, 173
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ให้ยกฟ้องจำเลยกับให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นสืบพยานหลักฐานเฉพาะของโจทก์และจำเลยแล้วมีคำพิพากษาใหม่
ในการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว
เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีมีเหตุสมควรที่จะวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายเรื่องฟ้องซ้อนอันเป็นประเด็นพิพาทแห่งคดีที่ได้ชี้สองสถานกำหนดเป็นประเด็นพิพาทไว้
ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะสั่งงดสืบพยานและวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้ได้ตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 24 ไม่เป็นการขัดต่อคำพิพากษาศาลฎีกา
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1
กับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูง โดยอ้างอำนาจตาม
พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 แต่มิได้ดำเนินการตามขั้นตอนในมาตรา
28 (2) (ข) (ค) ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับคดีก่อนที่โจทก์ยกข้ออ้างว่า จำเลยที่ 1
กับพวกร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างขุดดินปักเสาไฟฟ้าในที่ดินของโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แม้ที่ดินอีก 15 แปลง ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำไม่ชอบด้วยกฎหมายในคดีนี้
โจทก์ไม่ได้ฟ้องในคดีก่อน
แต่ที่ดินเหล่านี้อยู่ในโครงการปรับปรุงสายส่งไฟฟ้าเดิมที่โจทก์ฟ้องคดีก่อน จึงเป็นเรื่องเดียวกัน
ขณะคดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกอีก
ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173
วรรคสอง (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3900/2549
|
|
ป.วิ.พ. มาตรา 24, 55, 142, 227, 243, ตาราง 1 ท้าย
ป.วิ.พ.
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งแยกและโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์
เมื่อโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 6
ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ดังกล่าว
ศาลอุทธรณ์ภาค 6
ย่อมมีอำนาจพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีได้ตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) มิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโดยมิได้สอบถามข้อเท็จจริงใด
ๆ
จากคู่ความแล้วพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์จากข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำฟ้องเท่านั้น
จึงเป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24
ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องมิให้ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 227
ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นไว้
อุทธรณ์ของโจทก์ก็ไม่เป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้าม
โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ตามมาตรา 24 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา
227
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจาก ท.
โจทก์ชำระราคาและเข้าครอบครองตลอดมา แต่ ท. ยังมิได้จดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์
ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่ง ท.
และทายาทอื่นรวม 4 คน ร่วมกันรับมรดกมาจาก อ. เจ้ามรดก ต่อมา ม. ทายาทคนหนึ่งของ
อ.
จดทะเบียนให้จำเลยเข้าร่วมเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในส่วนของตน
และที่ดินดังกล่าวได้ออกเป็นโฉนดที่ดิน
ที่ดินที่จำเลยได้รับมาจากการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมนั้นรวมที่ดินพิพาทกับที่ดินอื่นอีกส่วนหนึ่งที่จำเลยได้รับสิทธิมาจาก
ม. ต่อมา ท. ถึงแก่ความตาย โจทก์จึงมาฟ้องจำเลย ดังนี้
หากโจทก์ได้รับความเสียหายเพราะ ท. ไม่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์
โจทก์ก็ชอบที่จะว่ากล่าวเอากับ ท. หรือทายาทของ ท.
หรือหากโจทก์เห็นว่าสิทธิของโจทก์ถูกกระทบกระเทือนอันเนื่องมาจากมีการออกโฉนดที่ดินและแบ่งแยกโฉนดที่ดินทับที่ดินพิพาทที่โจทก์ครอบครองก็ชอบที่จะฟ้องผู้เกี่ยวข้องเพื่อขอให้เพิกถอนการกระทำดังกล่าว
แต่โจทก์จะมาฟ้องเพื่อขอให้จดทะเบียนแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในส่วนที่เป็นที่ดินพิพาทให้แก่โจท์หาได้ไม่
เพราะจำเลยไม่มีหน้าที่ในทางนิติกรรมหรือสัญญาใด ๆ
ที่จะต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์
ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ได้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 24 การที่โจทก์อุทธรณ์และจำเลยฎีกาต่อมาเป็นการอุทธรณ์และฎีกาตามมาตรา 227
ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียงชั้นละ 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 ข.
ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมิใช่เสียตามทุนทรัพย์ที่พิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1681/2549
|
|
ป.วิ.พ. มาตรา 18, 24, 55, 149, 172, ตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ.
มูลหนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้ง 7 ข้อหา
เป็นมูลหนี้ที่โจทก์ได้ซื้อและรับโอนสิทธิเรียกร้องรวมทั้งหนี้สินที่จำเลยทั้งสี่มีอยู่กับเจ้าหนี้เดิมจำนวน
7 ราย แต่เจ้าหนี้เดิมของจำเลยทั้งสี่เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน
มูลหนี้ที่จำเลยทั้งสี่จะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้เดิมแต่ละรายไม่มีความเกี่ยวข้องกัน
และมีจำนวนเงินที่แยกออกจากกันได้ จึงมีสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับแตกต่างกัน
ไม่เกี่ยวข้องกันและสามารถแยกจากกันได้ การที่โจทก์รวมข้อหาทั้ง 7
ข้อหาเป็นคดีเดียว และเสียค่าขึ้นศาลในอัตราสูงสุดเพียงจำนวนเดียว จึงไม่ถูกต้อง
ศาลล่างชอบที่จะจำหน่ายคดีโดยให้โจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ในมูลหนี้แต่ละรายได้
และการที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีดังกล่าวเป็นอำนาจทั่วไปของศาล
เมื่อเห็นว่าฟ้องของโจทก์ไม่ชอบที่จะฟ้องรวมกัน
ศาลก็มีอำนาจที่จะสั่งให้จำหน่ายคดีเสียได้ เพื่อให้โจทก์นำคดีไปฟ้องใหม่ให้ถูกต้องภายในอายุความ
มิใช่ต้องยกฟ้องโจทก์ และการที่ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโจทก์มีผลเท่ากับศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา
มิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นถึงอำนาจฟ้องของโจทก์หรือเป็นการวินิจฉัยในเนื้อหาของคดี
โจทก์ย่อมสามารถนำคดีมาฟ้องใหม่ได้โดยเสียค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 464/2549
|
|
ป.วิ.พ. มาตรา 24, 142(5), 229, 246, 247
คดีนี้ก่อนสืบพยานศาลชั้นต้นเห็นว่า
ตามคำฟ้องและคำให้การคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิ์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งหกรับผิดตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ได้
พิพากษายกฟ้อง
เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายอันทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 24 การที่โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว
แม้จะมีคำขอท้ายอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้โจทก์ทั้งสี่ชนะคดีตามฟ้องก็ตาม
แต่ถ้าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่แล้ว เห็นว่า
อุทธรณ์ดังกล่าวฟังขึ้น ศาลอุทธรณ์ก็ไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ทั้งสี่ชนะคดีได้ เพราะยังไม่มีข้อเท็จจริงในสำนวนที่จะให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งหกจะต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่เพียงใด
เนื่องจากศาลชั้นต้นงดสืบพยาน
กรณีจึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานจนสิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป
ดังนั้น การอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ในกรณีเช่นนี้เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้
ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 (ก.) ท้าย ป.วิ.พ.
มิใช่เสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสี่เรียกร้องแต่ปรากฏว่าในการยื่นอุทธรณ์โจทก์ทั้งสี่สำคัญผิดว่าจะต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสี่เรียกร้อง
จึงได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียม
ทั้งที่ในวันยื่นอุทธรณ์โจทก์ทั้งสี่ได้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์มาวางต่อศาลแล้วบางส่วนจำนวน
19,000 บาท ต่อมามีการวางเงินค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมอีกสองครั้งรวมค่าธรรมเนียมที่โจทก์ทั้งสี่ชำระมา
82,000 บาท ซึ่งเกินกว่าเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์กับเงินค่าธรรมเนียมที่โจทก์ทั้งสี่จะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 229 เสียอีก กรณีไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมฉบับดังกล่าวและมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่
เพราะเหตุว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่ชำระค่าขึ้นศาลให้ครบถ้วน และเมื่อโจทก์ทั้งสี่ยื่นอุทธรณ์คำสั่งที่ขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียม
ศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่อีกโดยอ้างเหตุว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่วางเงินค่าธรรมเนียมตามมาตรา
229
และการที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ในเวลาต่อมา
เป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองดำเนินกระบวนพิจารณาไปโดยผิดหลงและไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
แม้โจทก์ทั้งสี่มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น