จำนวนการดูหน้าเว็บรวม
วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557
*** คดีอาญาเลิกกัน( มาตรา ๓๗-๓๘) *** มีฎีกาที่น่าสนใจตัวเดียวที่น่าจะพอออกสอบได้คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5526/2555 ลงไว้หลังจากสรุปย่อ
- ** ในคดีทำร้ายร่างกาย ครั้งแรกผู้เสียหายไม่ได้รับอันตรายแก่กาย พนักงานสอบสวนจึงเปรียบเทียบปรับในความผิดตามป.อ.มาตรา ๓๙๑ ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ และผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบแล้ว แต่ต่อมากลับปรากฎว่าบาดแผลที่ได้รับร้ายแรงจนเป็นอันตรายสาหัส เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา ๒๙๗ ซึ่งมิใช่ความผิดลหุโทษ เป็นคดีที่ไม่อาจเปรียบเทียบปรับได้ ดังนั้นการเปรียบเทียบปรับของพนักงานสอบสวนไม่มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไป(ฎ.๓๕๔/๓๑)
- กรณีความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้ข้อหาที่เบากว่ามีอัตราโทษที่อยู่ในข่ายจะเปรียบเทียบได้ แต่ถ้าข้อหาที่หนักกว่า อัตราโทษไม่อยู่ในข่ายที่จะเปรียบเทียบปรับได้ เช่นนี้พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจเปรียบเทียบข้อหาที่เบากว่า เพราะการกระทำที่เป็นกรรมเดียวกันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทนั้น ต้องลงโทษบทหนักตาม ป.อ. มาตรา ๙๐ ดังนี้หากพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับไปก็ไม่ทำให้คดีเลิกกัน ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป(ฎ.๒๘๔๙/๔๐) เรื่องนี้จำเลยขับรถเมาสุรา และประมาทน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท พงส.ไม่มีอำนาจปรับข้อหาขับรถประมาทซึ่งเป็นความผิดซึ่งเบากว่าข้อหาขับรถขณะมาสุราเพื่อให้ความผิดทั้งหมดเลิกกันตามมาตรา ๓๗
- แต่ถ้าเป็นหลายกรรม หลายกระทง การเปรียบเทียบปรับก็ให้พิจารณาเป็นรายข้อหา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5526/2555
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 (1)
ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุว่า พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า ขับขี่รถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจร จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 1,000 บาทซึ่งมีผลทำให้คดีอาญาเลิกกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 (1) สำหรับค่าสินไหมทดแทนพนักงานสอบสวนบันทึกว่า จำเลยผู้ขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ปธข กท154 กับ บ. ผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ศฎ 843 กรุงเทพมหานคร มาตกลงค่าสินไหมทดแทนโดยจำเลยเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากการบาดเจ็บและจากการที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้จาก บ. เป็นเงิน 80,000 บาท ส่วนค่าซ่อมรถจักรยานยนต์จำเลยจะไปซ่อมเอง บ. ยินดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยเป็นเงิน 40,000 บาทโดย บ. จ่ายเงินไว้ 40,000 บาท จำเลยรับไว้เรียบร้อยแล้วและรับว่าจะไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายทั้งทางแพ่งและอาญาอีก โดย บ. และจำเลยลงลายมือชื่อไว้ ดังนี้ย่อมเป็นหลักฐานว่า บ. ผู้เอาประกันภัยรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้ตกลงกับจำเลยว่าค่าสินไหมทดแทนจำนวน 80,000 บาท ที่จำเลยเรียกร้องนั้น บ. ยินยอมชำระให้เป็นเงิน40,000 บาท และการที่ บ. ชำระเงินจำนวน 40,000 บาท ให้แก่จำเลยในทันที แสดงว่า บ. และจำเลยไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกันอีกต่อไป อันเป็นการระงับข้อพิพาทให้เสร็จไปโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันด้วยการที่จำเลยยอมลดจำนวนค่าเสียหายที่เรียกร้อง และต่างฝ่ายต่างซ่อมรถที่เสียหายเอง จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ซึ่งมีผลให้ บ. ผู้เอาประกันภัยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในมูลละเมิดจากจำเลยได้อีกตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 โจทก์ผู้เอาประกันภัยจะรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเพียงเท่าที่ผู้เอาประกันภัยมีอยู่เท่านั้น เมื่อ บ.ผู้เอาประกันภัยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย โจทก์ย่อมไม่ได้รับช่วงสิทธิของ บ. ที่จะมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น