จำนวนการดูหน้าเว็บรวม
วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557
*** สรุปย่อ วิอาญา มาตรา 35-36***
ถอนฟ้อง(มาตรา ๓๕)
-การถอนฟ้องคดีอาญา โจทก์มีสิทธิถอนฟ้องได้จนถึงเวลาใดนั้นต้องดูประเภทคดีอาญาเป็นสำคัญ กล่าวคือถ้าเป็นความผิดที่ไม่ใช่คดีความผิดต่อส่วนตัวโจทก์ขอถอนฟ้องได้ก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวจะถอนฟ้องหรือยอมความได้ก่อนคดีถึงที่สุด
- * ดังนั้นในคดีที่ไม่ใช่คดีความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จะขอถอนฟ้องหลังจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วไม่ได้ แต่ถ้าคดีดังกล่าวมีการอุทธรณ์หรือฎีกา ถือว่าคำร้องขอถอนคำฟ้อง เป็นการขอถอนฟ้องอุทธรณ์หรือฎีกานั่นเอง(กรณีที่โจทก์เป็นผู้อุทธรณ์หรือฎีกา)(ฎ.๗๑๕/๓๗) แต่ถ้าเป็นความผิดต่อส่วนตัวที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องว่าไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี พอแปลได้ว่าโจทก์มีความประสงค์จะขอถอนฟ้อง ศาลสั่งอนุญาตให้ถอนได้(ฎ.๑๔๒/๓๔)
- ในคดีความผิดที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว ถ้าศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลล่าง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ คดีย่อมกลับมาสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นอีก โจทก์ขอถอนฟ้องได้(ฎ.๒๗๘/๒๕)
- คดีความผิดต่อส่วนตัวถอนฟ้องได้ก่อนคดีถึงที่สุด( ถึงที่สุดเมื่อสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ ฎีกา) แต่ในคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา ก็อาจมีการอนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์หรือฎีกาได้ ดังนั้นคดีจึงถึงที่สุดเมื่อสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์หรือฏีกา เช่นกัน
- คดีอาญาโจทก์และจำเลยจะขอให้ศาลฎีกาพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความหาได้ไม่ แต่เมื่อเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องมาด้วยในเวลาก่อนคดีถึงที่สุด เมื่อจำเลยไม่คัดค้านเป็นผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ตามมาตรา ๓๙ (๒) เมื่อศาลฎีกาอนุญาตให้ถอนฟ้องแล้ว มีผลให้คำพิพากษาของศาลล่างระงับไปในตัว ศาลฎีกาไม่ต้องพิพากษายกคำพิพากษาของศาลล่างอีก (ฎ.๔๓๘/๐๕ ป.) แต่ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลฎีกา
- ถ้าศาลชั้นต้นไม่รับฎีกา ผู้ฎีกายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา แม้จะล่วงเลยระยะเวลาฎีกาแล้วก็ตาม ก็ถือว่าคดียังไม่ถึงที่สุด( คร.๓๕/๒๒,๙๗๓/๒๕)
- กรณีศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวเพราะจำเลยหลบหนี คดียังไม่ถึงที่สุดโจทก์จึงขอถอนฟ้องได้
-** ในกรณีที่โจทก์ร่วมขอถอนคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม มีผลเท่ากับเป็นการถอนฟ้องนั่นเอง (คร.๘๙๒/๑๔) แต่ถ้าผู้เสียหายไม่ได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วยผู้เสียหายจะถอนฟ้องไม่ได้ ศาลฎีกาตีความว่า คำร้องขอถอนฟ้องนั้นเป็นการถอนคำร้องทุกข์นั้นเอง (ฎ.๑๒๔๑/๒๖)
- การอนุญาตให้ถอนฟ้องเป็นดุลพินิจของศาล แต่ถ้าจำเลยยื่นคำให้การแล้วและคัดค้าน ศาลต้องยกคำร้องขอถอนฟ้องจะใช้ดุลพินิจไม่ได้(ฎ.๖๙๘/๘๑)
ผลของการถอนฟ้อง(มาตรา ๓๖)
คดีอาญาที่ได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้ว จะนำมาฟ้องใหม่ไม่ได้ แม้ยังไม่ได้ไต่สวนมูลฟ้องก็ตาม(ฎ.๒๙๒๗/๒๙) การถอนฟ้องอันมีผลทำให้ฟ้องใหม่ไม่ได้นั้น หมายถึงการถอนฟ้องโดยเด็ดขาด การถอนฟ้อง(คดีความผิดต่อส่วนตัว)เพื่อร่วมเป็นโจทก์กับสำนวนอัยการ หาใช่เป็นการถอนฟ้องโดยเด็ดขาดไม่ สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องยังไม่ระงับไปตามมาตรา ๓๙(๒) พนักงานอัยการยังมีอำนาจฟ้อง ไม่ต้องห้ามตามมาตรา ๓๖ เพราะถือว่ายังติดใจที่จะดำเนินคดีกับจำเลยอยู่นั่นเอง อย่างไรก็ตามการขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการก็ต้องดำเนินการในเวลาอันควรด้วย หากปล่อยเวลานานไป เช่นกว่า ๖ เดือน ถือว่ามีเจตนาถอนฟ้องโดยเด็ดขาด (ฎ.๑๗๖๕/๓๙)
- กรณีการฟ้องผิดศาลแล้วถอนฟ้องเพื่อไปฟ้องยังศาลที่มีอำนาจ ก็มิใช่เป็นการถอนฟ้องเด็ดขาด(ฎ.๒๐๓/๓๑) จึงฟ้องใหม่ได้ แต่ก็ต้องฟ้องภายในอายุความด้วย (อายุความไม่สะดุด)
- * ถอนฟ้องเพื่อรอผลคดีแพ่ง เป็นการถอนฟ้องโดยเด็ดขาดฟ้องใหม่ไม่ได้(ฎ.๔๔๐/๙๗) หรือถอนฟ้องโดยอ้างเหตุผลว่าฟ้องบกพร่อง ขอถอนฟ้องเพื่อจะนำไปดำเนินคดีใหม่ ก็ถือว่าเป็นการถอนฟ้องโดยเด็ดขาดด้วย (ฎ.๙๒๔/๓๐)
-การที่ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ ถือเสมือนว่าโจทก์ร่วมฟ้องคดีเอง ดังนี้การที่โจทก์ร่วมขอถอนตัวจากการเป็นโจทก์ร่วม จึงมีผลท่ากับเป็นการขอถอนฟ้องในส่วนของโจทก์ร่วมนั้นเอง โจทก์ร่วมจะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนั้นในภายหลังอีกไม่ได้(ฎ.๗๒๔๑/๔๔)
- ในความผิดที่มีผู้เสียหายหลายคน เมื่อผู้เสียหายคนหนึ่งได้ยื่นฟ้องไว้แล้วขอถอนฟ้องไปย่อมตัดสิทธิเฉพาะผู้เสียหายคนนั้นไม่ให้ฟ้องใหม่ ส่วนผู้เสียหายคนอื่นยังมีสิทธิฟ้องได้อีก ไม่ถูกตัดสิทธิตามมาตรา ๓๖(ฎ.๕๙๓๔-๕/๓๓)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น