จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

**** การถอนคำร้องทุกข์ในความผิดต่อส่วนตัว*** มาตรา 39 (2-3) รวมกันไปเลย ฎีกาที่สำคัญผมลงไว้ให้ทีเดียว



- ในความผิดที่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งมีทั้งความผิดอันยอมความได้และที่มีใช่ความผิดอันยอมความได้ เมื่อผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์ ก็มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเฉพาะความผิดอันยอมความได้เท่านั้น พนักงานอัยการคงมีอำนาจดำเนินคดีในความผิดที่มิใช่ความผิดอันยอมความได้ต่อไป(ฎ.๑๑๒๗/๔๔)
- ** คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ผู้เสียหายจะถอนฟ้องไม่ได้ ถ้าผู้เสียหายถอนฟ้องศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นการขอถอนคำร้องทุกข์ (ฎ.๑๒๔๑/๒๖) นอกจากนี้การที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องหรือเบิกความว่า ไม่ติดใจเอาความกับจำเลย พอแปลได้ว่าผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์แล้ว (ฎ.๘๔๖๓/๔๔) บางครั้งข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันนี้ศาลฎีกาถือว่าเป็นการยอมความ(ฎ.๑๐๖๑/๔๕)
- การถอนคำร้องทุกข์ที่จะมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ต้องมีลักษณะเป็นการเด็ดขาดเพื่อไม่เอาผิดกับจำเลยอีกต่อไป ดังนี้การถอนคำร้องทุกข์เนื่องจากผู้เสียหายได้นำคดีมาฟ้องเสียเอง ไม่ใช่ถอนเพื่อไม่เอาผิดกับผู้กระทำผิด ไม่ทำให้คดีระงับ(ฎ.๙๙๔/๔๓)
- เมื่อถอนคำร้องทุกข์แล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับทันที การที่ผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงไม่ทำให้กลับมีสิทธิฟ้องคดีขึ้นอีก(ฎ.๔๘๔/๐๓)
- ** สิทธิในการถอนคำร้องทุกข์ในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์(เช่นความผิดฐานยักยอก ทำให้เสียทรัพย์) ตกทอดแก่ทายาทได้ เมื่อผู้เสียหายตาย ทายาทของผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ได้(ฎ.๒๐๖/๘๘,๑๑/๑๘)
-*** เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์แล้ว คำขอในส่วนแพ่งย่อมตกไปด้วย อัยการโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาแทนผู้เสียหายตามมาตรา ๔๓ ได้อีกต่อไป(ฎ๓๔๙๑/๓๔) 
- ผู้เสียหายตกลงกับจำเลยว่าจะไปขอถอนคำร้องทุกข์ แม้จะยังไม่มีการถอนคำร้องทุกข์ก็ตาม ก็มีผลเป็นการยอมความแล้ว (ฎ๑๙๗๗/๒๓) ดังนี้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปแล้วจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอถอนคำร้องถอนคำร้องทุกข์ในภายหลังอีกได้(ฎ.๑๖๘๑/๔๕) แต่ถ้าตกลงจะถอนคำร้องทุกข์โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะต้องชำระหนี้ให้ผู้เสียหายก่อน เมื่อจำเลยยังไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความแล้ว (ฎ.๓๐๑๙/๔๒)
- การที่ผู้เสียหายบอกกับตำรวจว่าไม่ติดใจเอาเรื่อง ไม่ถือว่าเป็นการถอนคำร้องทุกข์หรือยอมความ(ฎ.๖๐๔๕/๓๑) หรือการที่ผู้เสียหายมีหนังสือถึงจำเลยว่าไม่เอาโทษจำเลย ไม่เป็นการถอนคำร้องทุกข์ทั้งไม่ถือเป็นการยอมความด้วย(ฎ.๘๒/๐๖) แต่มี ฎ.๔๕๔๘/๓๙ วินิจฉัยว่าเป็นการยอมความแล้ว 
- การถอนคำร้องทุกข์ ผู้เสียหายจะขอถอนต่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลก็ได้ แม้คดีจะอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลก็ถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการก็ได้(ฎ.๑๕๐๕/๔๒)และการที่พนักงานอัยการได้รับคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายแล้ว ถือเป็นการถอนคำร้องทุกข์โดยชอบแล้ว ศาลไม่ต้องสอบถามผู้เสียหายอีก(ฎ.๑๕๐๕/๔๒)
- คดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล หากมีคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ ศาลต้องพิจารณาคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ก่อนที่จะดำเนินการต่อไป มิฉะนั้นเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบ ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ (ฎ.๑๓๓๒/๓๐) บางกรณีศาลฎีกาก็ถือว่าศาลล่างอนุญาตให้ถอนคำร้องทุกข์โดยปริยายแล้ว ไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการใหม่ แต่สั่งจำหน่ายคดีไปได้เลย(ฎ.๔๒๑/๔๖)
- ตามมาตรา 35 วรรคสอง บัญญัติ เฉพาะกรณีการถอนฟ้อง และการยอมความในคดีความผิดต่อส่วนตัวว่าสามารถกระทำได้ก่อนคดีถึงที่สุด แต่ไม่ได้บัญญัติถึงกรณีการถอนคำร้องทุกข์ไว้ด้วยว่าสามารถกระทำได้จนถึงเวลาใด คงมีแต่บทบัญญัติมาตรา 126 บัญญัติว่า จะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ และศาลฎีกาตีความว่าถอนคำร้องทุกข์ได้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ตามมาตรา 35 วรรคท้าย (ฎ.1/28, 5689/45, 1374/09) 
- เมื่อถอนคำร้องทุกข์แล้ว ศาลต้องมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี จะพิพากษายกฟ้องไม่ได้ (ฎ. 2689/27, 6097/34)
- ในกรณีที่สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา คำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์แล้วแต่กรณี ก็ระงับไปในตัวไม่มีผลบังคับอีกต่อไป (ฎ. 537/42)

ยอมความทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ (มาตรา 39(2)) 
- “ การยอมความต้องเป็นการตกลงระหว่างผู้เสียหายและจำเลย” ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือเพราะไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ.มาตรา 851,852 (ฏ. 353/32, 976/08) 
- ในกรณีความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท บางข้อหาเป็นความผิดต่อส่วนตัว และบางข้อหาเป็นความผิดต่อแผ่นดิน การยอมความหรือถอนคำร้องทุกข์ มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเฉพาะข้อหาความผิดอันยอมความได้เท่านั้น (ฎ. 1904/40)
- ถ้าความผิดที่โจทก์ฟ้องเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท มีทั้งข้อหาความผิดต่อส่วนตัวและความผิดอาญาแผ่นดิน หากศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษเฉพาะข้อหาที่เป็นความผิดต่อส่วนตัวและยกฟ้องข้อหาความผิดอาญาต่อแผ่นดิน ในกรณีเช่นนี้ ถือว่าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ยอมความกันในชั้นพิจารณาของศาลสูงได้ เช่น โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ.มาตรา 362, 365 ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยตามมาตรา 362 ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวและยกฟ้องมาตรา 365 ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เช่นนี้ อาจยอมความในชั้นฎีกาได้ มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป (ฎ. 2257/40) 
-ทำสัญญาว่าจะถอนฟ้องไม่ดำเนินคดีกับจำเลย แม้จะยังไม่ถอนฟ้อง หรือ แม้ศาลจะยังไม่สั่งคำร้อง ก็มีผลเป็นการยอมความแล้ว ศาลต้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ (ฎ.2257/40, 1009/33 , 980/33, 1433/06 )
-ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องว่ารับชำระหนี้จากจำเลยแล้วไม่ติดใจเอาความ เป็นการยอมความตามกฎหมายแล้ว และทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ที่ให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายตกไปด้วย (ฎ. 1061/45) 
- การพูดให้อภัยจำเลยโดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะไม่ไปพูดให้เสียหาย ไม่เป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย (ฎ. 3038/31) เพราะผู้เสียหายไม่ได้พูดว่า จะไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยตลอดไป
- ข้อตกลงที่ให้ถอนฟ้องนั้นมีเงื่อนไขให้จำเลยต้องชำระหนี้ก่อน ถ้าจำเลยยังไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไข ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกัน (ฎ. 1724/39) เช่นเดียวกับตกลงว่าจะไปถอนคำร้องทุกข์ เ มื่อตกลงกันแล้ว แม้จะยังไม่ไปถอนคำรองทุกข์ ผลแห่งการตกลงดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการยอมความกันในตัวแล้ว (ฎ. 1977/23)
- ตกลงออกเช็คฉบับใหม่ให้แทนฉบับเดิมซึ่งธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงิน โดยมีข้อตกลงว่าเมื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คฉบับใหม่แล้วจะถอนแจ้งความ และนำเช็คฉบับเดิมมาคืนให้ เป็นการตกลงสละสิทธิในเช็คพิพาทโดยมีเงื่อนไขว่าต้องเรียกเก็บเงินตามเช็คฉบับใหม่ก่อน เมื่อเช็คฉบับใหม่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ยังถือไม่ได้ว่ามีการยอมความกันในความผิดตามเช็คฉบับเดิม (ฎ. 5033/46)
-ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีเอง ภายหลังยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ทั้งที่ไม่เคยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ก็มีผลเป็นการยอมความแล้ว (ฎ. 3630/32)
- การยอมความกันโดยมีเงื่อนไขที่จำเลยจะต้องปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดก่อน ถือว่าไม่เป็นการยอมความกันโดยเด็ดขาด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจะระงับไปต่อเมื่อจำเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นแล้ว (ฎ. 1500/36, 1605/38, 2016/00) 
- ยอมความโดยมีเงื่อนไขว่า หยุดบุกรุกก็ไม่เอาเรื่อง เห็นได้ชัดว่าจำเลยต้องหยุดบุกรุกผู้เสียหายจึงจะไม่เอาเรื่อง ดังนั้น หากต่อมาบุกรุกอีก ความผิดที่บุกรุกครั้งแรกก็ยังไม่ระงับ (ฎ. 2016/00 ป.) 
- ถ้าเป็นการยอมความที่ไม่มีเงื่อนไข ว่าจำเลยต้องปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดก่อน ถือว่าสิทธิในการดำเนินคดีอาญามาฟ้องระงับไปในทันที แม้ภายหลังจำเลยจะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงก็ตาม (ฎ. 67/24, 2825/39,)
- การยอมความกันตาม ป.วิ.อ.มาตรา 39(2) หมายถึงการยอมความกันทางอาญาเท่านั้น และต้องมีข้อความชัดแจ้งว่ามีการยอมความกันในทางอาญาด้วย ดังนี้ การตกลงประนีประนอมยอมความกันในทางแพ่ง (นอกศาล) โดยไม่ได้กล่าวถึงคดีอาญา คดีอาญาไม่ระงับ (ฎ.200/08)
- การตกลงประนีประนอมยอมความกันในทางแพ่ง(ในศาล) โดยไม่ได้ตกลงให้ความผิดอาญาระงับหรือสิทธิในการดำเนินคดีอาญาด้วย ไม่ถือว่า เป็นการยอมความกันในคดีอาญาด้วย (ฎ. 4751/47, 2267/43) 
-บางกรณีศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายกับจำเลยตกลงยอมความกันในคดีอาญาด้วย เช่น กรณีที่ผู้เสียหายกับจำเลยตกลงเปลี่ยนแปลงมูลหนี้กันใหม่ (แปลงหนี้ใหม่) (ฎ. 1050/27) 
- สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.เช็คฯ มาตรา 7 บัญญัติว่า ถ้าหนี้ตามเช็คนั้นได้สิ้นความผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเลิกกันตาม ป.วิ.อ ดังนั้นในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามเช็ค ถ้าได้มีการประนีประนอมยอมความ มีผลทำให้หนี้ตามเช็คระงับไป แม้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจะเป็นการยอมความกันเฉพาะคดีแพ่ง และผู้เสียหายไม่ได้สละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาซึ่งไม่มีผลเป็นการยอมความในคดีอาญาตามมาตรา 39(2) ด้วยก็ตาม คดีอาญาก็เป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.เช็คฯ มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (ฎ. 721/44, 3447-8/43) การนำมูลหนี้ตามเช็คมาแปลงหนี้เป็นสัญญากู้ยืม เป็นการทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ มูลหนี้เดิมตามเช็คจึงระงับ แม้จำเลยยังไม่ได้ชำระหนี้เงินตามสัญญาเงินกู้ให้โจทก์ก็ตาม คดีจึงเป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.เช็คฯ (ฎ. 5247/45) ตกลงในการผ่อนชำระหนี้ตามเช็ค มิใช่การเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ หนี้เดิมตามเช็คยังมีอยู่ ไม่ทำให้คดีอาญาเลิกกันตามมาตรา 7 (ฎ. 2420/41) เรื่องนี้โจทก์จำเลยตกลงผ่อนชำระหนี้ตามเช็คเป็นเงิน ศาลฎีกาถือว่าเป็นข้อตกลงผ่อนชำระหนี้ตามเช็คเท่านั้น แต่ถ้ามีการออกเช็คผ่อนชำระแทนเช็คพิพาทศาลฎีกาถือว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว และเป็นการยอมความในคดีอาญาตามมาตรา 39(2) ด้วย (ฎ. 1053/42)
- เมื่อยอมความกันถูกต้องแล้ว แม้ผู้เสียหายจะแถลงต่อศาลว่า สุดแต่ศาลจะพิจารณาสิทธินำคดีอาญามาฟ้องก็ระงับไป (ฎ. 73/23)
- แต่ถ้ายังไม่มีการตกลงยอมความกันการที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องฝ่ายเดียวต่อศาลว่าไม่ติดใจเอาโทษจำเลยต่อไป ดังนี้ไม่ใช่การยอมความ (ฎ. 260/36, 238/24) เพราะการยอมความต้องมีการตกลงกัน แต่มีคำสั่งคำร้องที่ 4548/39 บอกว่าการที่ผู้เสียหายมีหนังสือถึงจำเลยว่าไม่ติดใจเอาความ เป็นการยอมความแล้ว ( ค.ฎ. 4548/39)
สรุป การยอมความต้องประกอบไปด้วย ต้องมีการตกลงกันที่จะยอม และ ต้องไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป 
- การยอมความต้องกระทำภายหลังความผิดเกิดแล้ว ข้อตกลงล่วงหน้าไม่ถือว่าเป็นการยอมความ (ฎ. 1403/08)
- การที่จำเลยนำเงินที่ยักยอกมาคืนผู้เสียหาย หรือตกลงว่าจะคืนให้โดยผู้เสียหายไม่ได้ตกลงให้ระงับคดีอาญาด้วย ไม่เป็นการยอมความ (ฎ. 3680/31, 2284/47)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น