จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

*** วิแพ่ง มาตรา 21 ฎีกาใหม่ไม่มีที่น่าสนใจ แต่ที่น่าสนใจ มีฎีกาอยู่ 3 ตัว ดังนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1679/2552
ป.วิ.พ.มิได้บัญญัติว่าคำร้องของจำเลยที่ขอผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นคำร้องที่ทำได้แต่ฝ่ายเดียว ก่อนที่จะไต่สวนหรือมีคำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะให้โอกาสโจทก์คัดค้าน โดยมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องเช่นว่านั้นแก่โจทก์ล่วงหน้า หากจะคัดค้านประการใดให้ยื่นเข้ามาภายในเวลาที่กำหนดการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาและงดการบังคับคดีไปเลยทีเดียว เป็นการก้าวล่วงข้ามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) อันเป็นบทกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ศาลฎีกาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียตามมาตรา 27

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8316/2551
การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ก่อนที่ศาลจะสั่งคำร้องจะต้องไต่สวนคำร้องดังกล่าวเสียก่อน ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจว่า จะทำการไต่สวนคำร้องดังกล่าวหรือไม่ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 21 (4) การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้ไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 2 โดยเห็นว่าจำเลยที่ 2 โดยเห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3614/2551
เมื่อศาลชั้นต้นรับคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินตามคำร้องเป็นของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์ แล้วตรวจพบว่า ด. ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินผู้หนึ่งถึงแก่ความตาย จึงมีคำสั่งให้ผู้ร้องแถลงชื่อและที่อยู่ของทายาท ด. ซึ่งผู้ร้องได้แถลงชื่อและที่อยู่ของทายาท ด. คือ ว. บ. และผู้คัดค้าน แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาคำร้องขอให้แก่ ว. กับ อ. ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมเท่านั้น ทำให้ผู้คัดค้านและ บ. ไม่ทราบถึงการร้องขอของผู้ร้องอันทำให้เสียสิทธิในการที่จะคัดค้าน อีกทั้งผู้คัดค้านยังได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่า ในขณะผู้ร้องนำส่งสำเนาคำร้องและไต่สวนคำร้องนั้น ว. และผู้คัดค้านมิได้อยู่บ้านแต่ไปรับจ้างทำงานอยู่ต่างจังหวัด หากได้ความดังกล่าวย่อมแสดงว่า การส่งสำเนาคำร้องขอของผู้ร้องให้แก่ทายาทของ ด. กระทำโดยมิชอบทำให้ฝ่ายผู้คัดค้านไม่มีโอกาสที่จะคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสีย และให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นส่งคำคู่ความใหม่ให้ครบถ้วนแล้วไต่สวนและมีคำสั่งตามรูปคดีต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น