จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

คำถาม คำให้การที่ขัดแย้งกันเองหรือคำให้การไม่ชัดแจ้งผลจะเป็นอย่างไร

คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 6262/2554 โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ จำเลยบุกรุกเข้ามาทำประตูและรั้วยาวประมาณ 6 เมตร สูงประมาณ 2 เมตร ปิดกั้นในที่ดิน ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนประตูและรั้วและชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การในตอนแรกว่า จำเลยซื้อที่ดินจัดสรรจากโจทก์ 9 แปลง รวมทั้งที่ดินพิพาทในราคา 3,900,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2539 โจทก์เองก็ยอมรับกรรมสิทธิ์ของจำเลยเหนือที่ดินพิพาท เท่ากับจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นของจำเลย แต่จำเลยกลับให้การในตอนหลังว่า ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย คำให้การในตอนหลังจึงขัดแย้งกับคำให้การในตอนแรกซึ่งอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย คำให้การของจำเลยจึงไม่ชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยหรือเป็นทางสาธารณะ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะประโยชน์ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้อง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาฎีกาที่ 6271/2554 คำให้การของจำเลยที่ 3 ต่อสู้เรื่องอายุความไว้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น โจทก์ได้ฟ้องร้องเกินกว่ากำหนดอายุความฝากทรัพย์และอายุความละเมิด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้อง เป็นคำให้การที่มิได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะอะไร ทำไมถึงขาดอายุความ ถือเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งปัญหาเรื่องคดีขาดอายุความเป็นทั้งปัญหาข้อเท็จจริงที่คู่ความต้องนำสืบ และหากเป็นปัญหาข้อกฎหมายก็ไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลไม่อาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1385/2554 จำเลยที่ 1 ให้การแต่เพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วกล่าวคือ เช็คแต่ละฉบับลงวันที่เท่าใด โจทก์ใช้อุบายหลอกลวงให้จำเลยที่ 1 แก้ไขวันเดือนปี ในเช็คเป็นวันที่เท่าใด จำเลยที่ 1 มิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่าอายุความนับตั้งแต่วันที่เท่าใด เช็คขาดอายุความแล้วตั้งแต่เมื่อใด และจะครบกำหนด 1 ปี วันใด เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ
จำเลยที่ 1 เพียงแต่ให้การว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 โดยทุจริตร่วมกันได้นำเช็คพิพาทมาฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตมิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่า โจทก์รับโอนเช็คพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยคบคิดกันฉ้อฉลและคบคิดกันฉ้อฉลอย่างไร รวมทั้งไม่สุจริตหรือทุจริตร่วมกันนำเช็คมาฟ้องอย่างไร จึงไม่มีประเด็นว่าคบคิดกันฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 รวมทั้งใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น