จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

*** รวมคำชี้ขาดความเห็นแย้งคดี" ลักทรัพย์" *** ชุดที่ ๑


คำชี้ขาดความเห็นแย้งที่ 15/1056
ข้อเท็จจริงได้ความว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ ผู้ต้องหาได้ลักกระเป๋าสตางค์ของผู้กล่าวหาซึ่งภายในมีเงินสดจำนวน 80,000 บาท บัตรประจำตัวประชาชน, ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์และใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ไปโดยทุจริต ตามทางคดีมีประจักษ์พยานเห็นผู้ต้องหาขณะลักทรัพย์และเมื่อผู้กล่าวหาขอตรวจค้นตัวผู้ต้องหา จึงพบกระเป๋าของผู้กล่าวหาในตัวผู้ต้องหาเหตุเกิด เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2544 เวลากลางคืนที่แขวงยานนาวา เขตสาทรกรุงเทพมหานครพนักงานสอบสวน มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา ตามข้อหาพนักงานอัยการ สั่งฟ้องผู้ต้องหาในความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 สั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ในความผิด ฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เสนอความเห็นแย้งในการที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง โดยเห็นว่าการกระทำของผู้ต้องหานอกจากจะเป็นความผิด ฐานลักทรัพย์แล้ว ยังเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารคือบัตรประจำตัวประชาชน ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ ใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 อีกด้วยอัยการสูงสุด พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามพฤติการณ์ผู้ต้องหาเจตนาประสงค์ที่จะลักเอากระเป๋าพร้อมเงินสดของผู้เสียหายซึ่งมีเอกสารอยู่ในกระเป๋าดังกล่าวไปในคราวเดียว มิได้มีเจตนาที่จะเอาไปเสียซึ่งเอกสารดังกล่าวอีกส่วนหนึ่ง จึงชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188
ข้อสังเกต
ในเรื่องนี้ แม้ผู้ต้องหาจะคาดหมายได้ว่าในกระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายนั้น ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนหรือเอกสารอื่นใด อันเป็นเอกสารสำคัญของผู้เสียหายอยู่ด้วย แต่เมื่อตามทางการสอบสวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดอันจะบ่งชี้ได้ว่าผู้ต้องหามีเจตนาเอาไปเสียซึ่งเอกสารดังกล่าวอีกส่วนหนึ่ง พฤติการณ์แห่งคดีจึงน่าเชื่อว่าผู้ต้องหามีเจตนาลักระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายโดยประสงค์ต่อเงินสดเท่านั้น
คำชี้ขาดความเห็นแย้งที่ 15/1057
ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ต้องหาเป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งลูกมือช่าง (ช่างประปา)วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ควบคุมการปฎิบัติงานนอกเวลาราชการ เเละรายงานหัวหน้าฝ่ายเพื่อทราบการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการเเล้วจึงส่งเรื่องให้ฝ่ายงบประมาณการเงินและบัญชีเบิกจ่ายเงิน ผู้ต้องหาได้ทำการเบิกค่าตอบเเทนการปฎิบัติงานนอกเวลาราชการปกติในการควบคุมดูแลระบบต่างๆ ของ ตึกศัลยกรรม 6 ชั้นวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์กรุงเทพมหานครแเละวชิรพยาบาลเป็นเท็จ โดยจัดทำเอกสารการเบิกจ่ายในวันที่ ผู้ต้องหา ลาป่วย เเละลาพักผ่อน ในระหว่างเดือนสิงหาคม 2541 - กันยายน 2543 โดยมิได้อยู่ปฏิบัติราชการจริงคิดเป็นเงินที่เบิกไปโดยมิชอบ จำนวน 5, 100 บาท และนำวัสดุอุปกรณ์งานช่างเช่น หลอดไฟ สายไฟเดินภายใน ไม้อัด กาวติดไม้อัด ฯลฯ ของทางราชการไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว เป็นเหตุให้กรุงเทพมหานคร ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินจำนวน 7,860 บาท รวมทั้ง
ได้ทำการขนถ่ายนำมันดีเซลจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของตึกศัลยกรรม 6 ชั้น บรรจุใส่ถังแกลลอนขนาด 20 ลิตร จำนวนหลายครั้ง โดยคิดค่าเสียหายเป็นเงินประมาณ2,532.80 บาท เเละยังมีบางส่วนที่ไม่สามารถตรวจสอบความเสียหายได้ เหตุเกิด -ระหว่างวันที่ 4 สิงหาคม 2541 กึงวันที่ 26 มีนาคม 2544 เวลากลางวันเเละกลางคืนต่อเนื่องกัน ที่แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานครฯ พนักงานสอบสวน -เห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา ทุกข้อหา พนักงานอัยการ -สั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ทุกข้อหา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ -พิจารณาเเล้วเห็นว่า กรณีความผิดข้อหาปลอมเอกสาร เเละใช้หรืออ้างเอกสารปลอมนั้น ข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวนฟังได้ว่า ผู้ต้องหาได้รับมอบหมายให้ควบคุมการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ แต่ได้กรอกข้อความลงในแบบฟอร์มการขอเบิกค่าตอบเเทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการเป็นเท็จ โดยทำการเบิกค่าตอบเเทนในวันที่ผู้ต้องหาลาป่วย เเละ ลาพักผ่อนด้วย ดังนั้นเมื่อผู้ต้องหามีหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการจึงมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำเอกสารหลักฐานการจ่ายเงินค่าตอบเเทนนอกเวลาราชการแม้ผู้ต้องหาทำหลักฐานการเบิกจ่ายเงินไม่ตรงกับ ความเป็นจริง เเต่เอกสารดังกล่าวก็ไม่ใช่เอกสารปลอมเพราะเป็นการจัดทำเอกสารภายในอำนาจหน้าที่ การกระทำของผู้ต้องหาจึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้หรืออ้างเอกสารปลอม ดังนั้นตามที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาข้อหานี้จึงชอบแล้วส่วนกรณีสั่งไม่ฟ้อง ผู้ต้องหา ข้อหาลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง นั้น ยังไม่เห็นพ้องกับคำสั่งดังกล่าว เพราะมีข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า ผู้ต้องหา เป็นลูกจ้างประจำทำหน้าที่เป็นหัวหน้าช่างควบคุมช่างประปา ฝ่ายซ่อมบำรุงและกำจัดของเสีย ของกรุงเทพมหานคร ได้เบิกอุปกรณ์ไฟฟ้าประปา เเละน้ำมันดีเซล ไปเก็บรักษาไว้ที่หน่วยงานของตน เพื่อนำไปใช้ในการปฎิบัติงาน แต่ได้เอาทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ส่วนตน การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง ไม่ใช่ยักยอกทรัพย์ เนื่องจากการที่ผู้ต้องหาซึ่งเป็นลูกจ้างได้เบิกทรัพย์สินต่าง ๆ มาเก็บรักษาไว้เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานให้กับนายจ้างนั้น เป็นเพียงการยึดถือทรัพย์สินไว้แทนนายจ้างเท่านั้น ส่วนการครอบครองยังอยู่ที่นายจ้างเเละกรณีที่ผู้ต้องหายึดถือไว้ก็เพื่อใช้สอยอยู่ในการทำงานให้นายจ้าง เมื่อผู้ต้องหาเอาทรัพย์ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ส่วนตน ย่อมเป็นการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง อัยการสูงสุด -พิจารณาเเล้วชี้ขาดให้ฟ้องผู้ต้องหา ฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) พระราชบัญญัติเเก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
คำชี้ขาดความเห็นแย้งที่ 15/1193
ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อประมาณกลางปี 2543 ผู้เสียหายได้ถอดกระปุกเกียร์รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ยี่ห้ออีซูซุ รุ่นเคบี 2000 จำนวน 1 อัน ราคาประมาณ 3, 0001 - บาท ออกจากรถยนต์ส่วนตัวแล้วนำไปเก็บรักษาไว้หลังบ้านพักที่เกิดเหตุ ต่อมาตามวันเวลาเกิดเหตุ ขณะที่ผู้เสียหายกำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่บริเวณหน้าบ้านดังกล่าว เห็นผู้ต้องหาซึ่งเป็นญาติและพักอาศัยอยู่ด้วยกัน เดินหิ้วถุงปุ๋ยซึ่งมีลักษณะเหมือนมีวัตถุขนาดเท่ากระปุกเกียร์รถยนต์บรรจุอยู่ภายในแล้วเดินออกจากบ้านไป มีลักษณะท่าทางเป็นพิรุธ แต่ผู้เสียหายไม่ติดใจสงสัย เพราะคิดว่าผู้ต้องหาคงจะไม่นำสิ่งของมีค่าที่อยู่ภายในบริเวณบ้านไปขาย หลังจากผู้เสียหายรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ได้เดินออกไปดูกระปุกเกียร์รถยนต์ แต่ปรากฏว่าได้หายไป และมีร่องรอยการเคลื่อนย้ายออกไปใหม่ ๆ เชื่อว่าผู้ต้องหาจะต้องเป็นผู้มาลักเอาทรัพย์ของตนไป หลังจากผู้ต้องหากลับเข้ามาในบ้าน ผู้เสียหายสอบถามว่าได้เอากระปุกเกียร์รถยนต์ไปหรือไม่ ผู้ต้องหายอมรับว่าได้ลักเอากระปุกเกียร์รถยนต์ของผู้เสียหายขายให้ผู้มารับซื้อของเก่าแล้วและรับปากว่าจะติดตามเอามาคืนให้ในภายหลัง แต่ไม่สามารถติดตามนำกลับมาคืนให้ได้ เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายผู้เสียหายจึงมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เหตุเกิด เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2544 เวลากลางวัน แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวน มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา ในความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334พนักงานอัยการ สั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาตามข้อกล่าวหาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เสนอความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาของพนักงานอัยการ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คดีนี้ผู้เสียหายให้การยืนยันว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ เห็นผู้ต้องหาหิ้วถุงปุ๋ยภายในบรรจุสิ่งของคล้ายกระปุกเกียร์รถยนต์แล้วเดินออกจากบ้านไป มีลักษณะท่าทางเป็นพิรุธ หลังเกิดเหตุได้ไปตรวจสอบกระปุกเกียร์รถยนต์ของตนที่ถอดเก็บไว้บริเวณหลังบ้านที่เกิดเหตุ ปรากฏว่าได้หายไปและมีร่องรอยการเคลื่อนย้ายออกไปใหม่ ๆ จึงเชื่อว่าผู้ต้องหาจะต้องเป็นผู้มาลักเอาทรัพย์ของตนไป สอบถามผู้ต้องหาแล้วให้การรับสารภาพว่า เป็นผู้มาเอากระปุกเกียร์รถยนต์ดังกล่าวไปขายให้คนรับซื้อของเก่าจริง แม้ต่อมาผู้ต้องหาจะให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน แต่พฤติการณ์และพยานหลัก ฐานในคดีน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาเป็นผู้เอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต กระทำของผู้ต้องหาจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 คดีมีพยานหลักฐานพอฟ้องผู้ต้องหาในความผิดดังกล่าวอัยการสูงสุด ได้พิจารณาแล้ว มีคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องผู้ต้องหาฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334
ข้อสังเกต ความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถาน ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(8)
ต้องเป็นการเอาทรัพย์ไปจากเคหสถานโดยผู้กระทำไม่มีสิทธิ เข้าไปในเคหสถานนั้นได้ และถ้า
ผู้กระทำบุกรุกเข้าไปในเคหสถานนั้นด้วยก็จะเป็นความผิดฐานบุกรุกตามมาตรา 364 อีกบทหนึ่งด้วย
คดีนี้ผู้ต้องหาพักอาศัยอยู่ร่วมกันกับผู้เสียหายในบ้านที่เกิดเหตุ แล้วลักเอากระปุกเกียร์รถยนต์ของ
ผู้เสียหายไปจากบริเวณบ้านพักดังกล่าว ซึ่งเป็นเคหสถาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (4)
ก็ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถาน คงมีความผิดเพียงฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมาย
อาญา มาตรา 334 เท่านั้น

คำชี้ขาดความเห็นแย้งที่ 15/1246
ข้อเท็จจริงได้ความว่า ก่อนเกิดเหตุ ผู้ต้องหาที่ 2 ได้เสนอขายโทรศัพท์ให้พยานในราคาถูกกว่าท้องตลาด ซึ่งผู้กล่าวหาสนใจจะซื้อด้วยจึงมีการนัดหมายกันกับผู้ต้องหาที่ 2 เพื่อรับโทรศัพท์เเละชำระราคา ในวันเกิดเหตุ ผู้ต้องหาที่ 2 เป็นผู้กำหนดที่นัดหมายโดยติดต่อกันทางโทรศัพท์ ซึ่งผู้กล่าวหาเเละพยานได้นำเงินสตติดตัวมา 150, 000 บาทเพื่อชำระค่าโทรศัพท์80 เครื่อง เมื่อถึงที่นัดหมาย ผู้ต้องหาที่ 2 บอกทางโทรศัพท์ให้ผู้กล่าวหากับพยานเก็บเงินสดไว้ที่รถและเดินไปตามทางรถไฟเพื่อไปพบผู้ต้องหาที่ 2 ที่บ้านหลังหนึ่ง เมื่อเดินไปได้ประมาณ 10-12 เมตรผู้กล่าวหาไม่เเน่ใจในจุดนัดหมายจึงให้พยานโทรคุยกับผู้ต้องหาที่ 2 อีกครั้งผู้ต้องหาที่ 2 บอกว่าตอนนี้อยู่ที่ห้าง จ. ให้เดินไปหาที่ห้างดังกล่าวก็ได้ เมื่อดูของเสร็จแล้วค่อยกลับมารับเงินตรงที่จอดรถไว้ ผู้กล่าวหาเเละพยานเกิดความสงสัยว่าน่าจะมีพิรุธจึงเดินกลับมาที่รถพบผู้ต้องหาที่ 1กำลังงัดรถยนต์ของผู้กล่าวหาอยู่ ผู้ต้องหาที่ 1 เห็นผู้กล่าวหาเเละพยาน จึงวิ่งขึ้นรถยนต์ ซึ่งจอดอยู่หน้ารถของผู้กล่าวหาหันหน้าเข้าหารถของผู้กล่าวหาเเล้วขับรถหนีไป ผู้กล่าวหากับพยานขับรถตามประกบผู้ต้องหาที่ 1 เเละเรียกให้ผู้ต้องหาที่ 1 ลงมาจากรถ จากคำให้การของผู้กล่าวหายืนยันว่าผู้ต้องหาที่ 1 ได้ยอมลงจากรถเเละยอมรับกับผู้กล่าวหาว่า งัดรถของผู้กล่าวหาจริง เหตุเกิด เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2545 เวลากลางวัน ที่แขวง/เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานครความเห็น - พนักงานสอบสวน - มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 เเละ 2 ตามข้อหา พนักงานอัยการ - มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหา พยายามลักทรัพย์โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ เเละสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหา ร่วมกันพยายามลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 ไม่ทราบว่าเป็นใคร ยังไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิด พนักงานอัยการจึงไม่มีคำสั่งเกี่ยวกับผู้ต้องหาที่ 2 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ - พิจารณาเเล้วเห็นว่า ตามที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ในข้อหา ร่วมกันพยายามลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกเเก่การกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้น หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม นั้น ยังไม่เห็นพ้องกับคำสั่งดังกล่าว เพราะคดีมีบิดาของผู้ต้องหาที่ 1เป็นพยานให้การว่า รถยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับเป็นของตน ซึ่งผู้ต้องหาที่ 1 สามารถนำไปใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าว และจากคำให้การของผู้กล่าวหาก็ให้การว่า ผู้ต้องหาที่ 1 วิ่งขึ้นรถยนต์คันดังกล่าวที่จอดอยู่หน้ารถของผู้กล่าวหาโดยหันหน้าเข้าหารถของผู้กล่าวหาเเล้วขับหนีไปจากข้อเท็จจริงดังกล่าวเเสดงให้เห็นว่า ผู้ต้องหาที่ 1 มีเจตนาในการขับรถคันดังกล่าวมาที่รถของผู้กล่าวหาเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ของผู้กล่าวหา เเต่ยังลักทรัพย์ไม่สำเร็จผู้กล่าวหามาพบเสียก่อน จึงได้ใช้รถคันดังกล่าวหลบหนีเพื่อให้พ้นจากการจับกุม พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้ต้องหาที่ 1 ใช้รถยนต์คันดังกล่าวเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดและเพื่อให้พ้นการจับกุมอัยการสูงสุด - พิจารณาแล้ว ชี้ขาดให้ฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ฐาน พยายามลักทรัพย์โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไปเพื่อให้พ้นการจับกุม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (3), 336 ทวิ,80 พระราชบัญญัติเเก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2525 มาตรา 11ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 13

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น