คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 440/2555
ข้อเท็จจริง
1. อัยการโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2550 เวลากลางวัน จำเลยใช้อาวุธปืนพกชนิดรีวอลเวอร์ ขนาด .38 หมายเลขทะเบียน กท 4800 ของจำเลยซึ่งได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนตามกฎหมายยิงนายสกล ผู้เสียหาย 5 นัดโดยเจตนาฆ่า กระสุนปืนถูกเข่าซ้ายของผู้เสียหาย จำเลยกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเนื่องจากผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายแต่เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83 และริบของกลาง
1.1 อัยการมีอำนาจฟ้องคดีอาญาได้นั้น เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28(1) และอัยการจะฟ้องคดีได้ต้องมีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120
1.2 การสอบสวนอันจะส่งผลให้อัยการมีอำนาจฟ้องนั้นต้องเป็นการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต้องไม่มีข้อบกพร่องในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ หากการสอบสวนขาดตกบกพร่องในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแล้วการสอบสวนก็จะเป็นไปโดยไม่ชอบ พนักงานอัยการก็จะไม่มีอำนาจฟ้อง (การสอบสวนที่บกพร่องในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญนั้นได้วางหลักไว้แล้วว่า ประกอบไปด้วย คน ท้อง ชอบ ร้อง หา โดยให้ทบทวนอีกครั้งจากที่อาจารย์ได้สอนไว้แล้ว)
1.3 การร่างฟ้องของอัยการต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 โดยมีสาระสำคัญก็คือ ต้องบรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบของความผิดในเรื่องนั้นๆ และต้องมีคำขอให้ลงโทษตามกฎหมายใด มาตราใด ให้ชัดเจน
1.4 เมื่อร่างฟ้องแล้วต้องมีการลงชื่อโจทก์ในคำฟ้อง ลงชื่อผู้เรียง ผู้พิมพ์ฟ้องให้ครบถ้วนทุกคน จากนั้นก็จะนำคำฟ้องไปยื่นต่อศาลพร้อมกับนำตัวจำเลยไปส่งศาลพร้อมกับคำฟ้อง (นอกจากจะเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องส่งตัวจำเลยพร้อมกับคำฟ้อง)
1.5 เมื่ออัยการโจทก์นำคำฟ้องมายื่นต่อศาลแล้ว ศาลจะตรวจคำฟ้องโดยอาศัย ป.วิ.อ. เรื่องเขตอำนาจศาล ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 22, 23, 24 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 14, 15, 16, 17 และศาลก็จะพิจารณาสาระสำคัญแห่งฟ้องโดยอาศัย ป.วิ.อ. มาตรา 158 และมาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 18 และยังต้องอาศัยอำนาจ ป.วิ.อ. มาตรา 161 ในการตรวจฟ้องของอัยการด้วย
1.6 เมื่อศาลตรวจคำฟ้องแล้วทางปฏิบัติ ศาลจะสั่งฟ้องของอัยการว่า “ประทับฟ้อง หมายขัง” หมายความว่า ให้ประทับฟ้องของอัยการโจทก์ไว้และให้ออกหมายขังจำเลยไว้ในระหว่างพิจารณา หากจำเลยจะขอประกันตัวในชั้นนี้ก็จะดำเนินการอีกส่วนหนึ่ง (การสั่งประทับฟ้องของศาลเช่นนี้เป็นไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 ซึ่งเป็นอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวทำได้ในการลงชื่อรับฟ้อง)
1.7 หลังจากนั้น ศาลก็จะดำเนินการเข้าสู่กระบวนพิจารณาโดยเริ่มจาก ป.วิ.อ. มาตรา 173 สอบถามเรื่องทนายควาก่อน จากนั้นก็จะอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังและจะสอบคำให้การจำเลยว่าจะให้การประการใดในชั้นนี้เป็นการดำเนินการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172
2. คดีนี้ เมื่อศาลสอบถามจำเลยแล้ว ปรากฏว่าจำเลยให้การปฏิเสธ ในทางปฏิบัติศาลอาจนัดตรวจพยานหลักฐาน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173/1, 173/2 หรือศาลจะนัดสืบพยานโจทก์จำเลยไปเลยก็ได้สุดแล้วแต่ประเภทของคดี
3. คดีนี้ ปรากฏว่า ระหว่างพิจารณา ส. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ
3.1 หลักการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมนั้นเป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30
3.2 ในทางปฏิบัติเมื่อมีการยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมเช่นนี้ ศาลจะสอบถามอัยการและจำเลยก่อน โดยสอบถามอัยการว่า ผู้ยื่นคำร้องเป็นผู้เสียหายหรือไม่ หากอัยการยืนยันว่าเป็นผู้เสียหายแล้วก็จะถามต่อไปว่า อัยการจะคัดค้านการขอเป็นโจทก์ร่วหรือไม่ จากนั้น ก็จะสอบถามจำเลยว่าจะคัดค้านการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของผู้เสียหายหรือไม่ เมื่อดำเนินการครบถ้วนดังนี้แล้ว ศาลก็จะใช้ดุลพินิจว่าอนุญาตหรือไม่ และข้อหาใด
4. เมื่อสืบพยานโจทก์และจำเลยเสร็จแล้วศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 จำคุก 10 ปี ทางนำสืบจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตาม ป.อ.มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน ริบของกลาง
4.1 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว หากจำเลยประสงค์จะอุทธรณ์ต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 และอุทธรณ์ของจำเลยจะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่เป็นไปตามเงื่อนใข ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ปรากฏว่าคดีนี้ ศาลพิพากษาจำคุกจำเลย 6 ปี 8 เดือน จำเลยจึงอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิแต่อย่างใด
4.2 สำหรับคดีนี้ แม้ศาลจะพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตามฟ้อง 10 ปี และมีเหตุลดโทษ คงจำคุก 6 ปี 8เดือน หากโจทก์ไม่พอใจคำพิพากษาก็สามารถอุทธรณ์ได้ เพราะหลักการอุทธรณ์ไม่ใช่เรื่องแพ้จึงจะอุทธรณ์ได้ ดังนั้น คดีนี้แม้อัยการโจทก์จะเป็นผู้ชนะคดี แต่ถ้าไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลก็สามารถจะอุทธรณ์ได้เช่นกัน ซึ่งก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ดังนั้น ด้วยเงื่อนไขของมาตรา 193 ทวิ โจทก์ก็สามารถอุทธรณ์ได้หากไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา
4.3 คดีนี้ เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์โดยโจทกไม่ได้อุทธรณ์ ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น นั่นหมายความว่าให้จำคุกจำเลย 6 ปี 8 เดือน ปัญหาของจำเลยจึงมีว่าจะฎีกาต่อไปได้หรือไม่ เมื่อพิจารณาโทษจำคุกของศาลอุทธรณ์จะเห็นว่าเป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง เมื่อพิจารณาตัวบทดังกล่าวจะเห็นว่า ไม่ห้ามจำเลยฎีกาในข้อเท็จจริง ส่วนอัยการโจทก์นั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกจำเลย 6 ปี 8 เดือนเช่นนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง เมื่อศึกษาตัวบทแล้วจะเห็นว่า จะห้ามอัยการโจทก์ฎีกาในข้อเท็จจริง
5. คดีนี้จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและจำเลยมิได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย ซึ่งจำเลยสามารถฎีกาได้ ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แต่สำหรับประเด็นข้อเท็จจริง จำเลยไม่ถูกจำกัดสิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสองก็จริง แต่จำเลยก็จะถูกห้ามฎีกาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 249 ในประเด็นว่า ข้อเท็จจริงที่จำเลยจะยกขึ้นในชั้นฎีกานั้น ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งต้องเป็นสาระแก่คดีด้วย
6. คดีนี้ ศาลฎีกาพิพากษาว่า
6.1 โจทก์ร่วมและจำเลยต่างสมัครใจวิวาทต่อสู้กัน แม้ฝ่ายใดจะใช้อาวุธยิงก่อนก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะเมื่อสมัครใจวิวาทกันแล้ว อีกฝ่ายจะอ้างว่าตนใช้อาวุธปืนยิงอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อป้องกันสิทธิไม่ได้ จำเลยจึงไม่อาจอ้างได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
6.2 จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงโดยสภาพ ยิงโจทก์ร่วมถึง 5 นัด แม้กระสุนปืนถูกบริเวณเข่าซ้ายของโจทก์ร่วมเพียงนัดเดียวโดยไม่ถูกอวัยวะสำคัญของโจทก์ร่วม แต่จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า กระสุนปืนอาจถูกอวัยวะสำคัญของโจทก์ร่วมจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมถึงแก่ความตายได้ ส่วนที่กระสุนปืนไม่ถูกอวัยวะสำคัญของโจทก์ร่วมอาจเนื่องจากขณะนั้นจำเลยอาจมีอาการมึนเมาสุราหรือไม่มีความชำนาญในการใช้อาวุธปืนก็เป็นได้ หาได้หมายความว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วมไม่ เมื่อรอยกระสุนปืนที่จำเลยยิงใส่โจทก์ร่วมแต่ไปถูกบ้านของ ส. ทะลุเข้าไปในวัสดุเนื้อแข็งเช่น ไม้ และเสาปูนซิเมนต์ อาวุธปืนและกระสุนปืนที่จำเลยใช้ก่อเหตุจึงไม่ได้ขาดประสิทธิภาพอันจะเป็นการกระทำที่ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำตาม ป.อ. มาตรา 81 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 288, 80
6.3 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมและจำเลยสมัครใจวิวาทต่อสู้กัน โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย และไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของนาย ส./////
cr.เพจ อ.ประยุทธ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น