จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ฎีกานี้โปรดระวัง ให้อ่านข้อสังเกตุด้วย

ฎีกาที่ ๖๐๗๙/๒๕๕๕ วินิจฉัยว่า ความผิดฐานยักยอกทรัพย์เกิดขึ้นในขณะที่ ฮ ผู้เสียหาย ยังมีชีวิตอยู่ แม้ศาลจะสั่งให้ ฮ. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ แต่ ฮ. ก็ยังสามารถดำเนินคดีเหมือนเช่นบุคคลทั่วไปได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ ต่อมาเมื่อ ฮ. ถึงแก่ความตายโดยยังไม่ได้ร้องทุกข์ดำเนินคดี โจทก์ร่วมในฐานะผู้จัดการมรดกของ ฮ. จึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์แทน ฮ. ได้ ถือไม่ได้ว่าคดีได้มีการร้องตามระเบียบ พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง 

ข้อสังเกตุ ข้อที่ศาลวินิจฉัยว่า “คนเสมือนไร้ความสามารถยังสามารถดำเนินคดีเหมือนเช่นบุคคลทั่วไปได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์” น่าจะหมายถึง เฉพาะการร้องทุกข์เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงการฟ้องคดีต่อศาล เพราะการฟ้องคดีถือเป็นการ “เสนอคดีต่อศาล” ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๔ (๑๐) ซึ่งผู้เสมือนไร้ความสามารถต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อนจึงจะฟ้องคดีอาญาได้ 

มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ผู้พิทักษ์ ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้เสมือนไร้ความสามารถ มีหน้าที่เพียงให้ความยินยอมเท่านั้น หากผู้พิทักษ์ฟ้องคดีเอง เป็นเรื่องอำนาจฟ้อง มิใช่เรื่องบกพร่องในความสามารถ ศาลจะสั่งแก้ไขให้ถูกต้องไม่ได้ ต้องยกฟ้องตามนัยฎีกาที่ ๕๖๓/๒๕๑๗ 

อย่างไรก็ตาม หากผู้เสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถกระทำการได้ด้วยตัวเองเพราะมีกายพิการหรือจิตพิการ ผู้พิทักษ์อาจร้องขอให้ศาลสั่งให้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสมือนไร้ความสามารถได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๔ วรรคสาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น