ความผิดฐานรับของโจร มีหลักการอย่างไร
พิจารณาศึกษาจากคำพิพากษาฎีกาที่ 674/2556
ป.อ. มาตรา 357 รับของโจร
ข้อเท็จจริง
1. โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2552 เวลากลางวัน จำเลยเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานของนาง ล. ผู้เสียหาย แล้วลักกระเป๋าสตางค์ 1 ใบ ราคา 50 บาทพร้อมด้วยเงินสด 16,500 บาท รวมเป็นเงิน 16,550 บาท ของผู้เสียหายซึ่งเก็บรักษาไว้ในเคหสถานดังกล่าวไป ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 335 ให้จำเลยคืนเงิน 16,500 บาทที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
1.1 การบรรยายฟ้องของอัยการเป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158(5) และ (6) ส่วนการขอให้คืนเงินเป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43
2. เมื่อสืบพยานทุกฝ่ายแล้วศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335(8) วรรคแรก ให้จำคุกจำเลย 3 ปี
2.1 ผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยสามารถอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ
3. ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก ให้จำคุก 1 ปี .......
3.1 จะเห็นได้ว่า คดีนี้อัยการโจทก์ได้มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 335 (ฐานลักทรัพย์) แต่คดีนี้ปรากฎว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 357 ซึ่งเป็นความผิดฐานรับของโจร ทั้งที่อัยการโจทก์ไม่ได้ขอให้ลงโทษ ซึ่งศาลอุทธรณ์สามารถกระทำได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม
4. มีปัญหาขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาว่า จำเลยกระทำผิดฐานรับของโจรตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า
“ภายหลังเกิดเหตุลักทรัพย์พบกระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายที่ถูกลักไปอยู่ในบ้านของจำเลยใส่ถุงพลาสติกรวมกับของที่เตรียมจะทิ้งแขวนอยู่บริเวณหน้าต่างภายในห้องครัว แม้โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้นำกระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายใส่ไว้ในถุงพลาสติกก็ตาม แต่จากสภาพบ้านของจำเลยแม้เปิดเป็นร้านเสริมสวยแต่จุดที่พบกระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายนั้นเป็นบริเวณภายในห้องครัวบุคคลภายนอกไม่มีสิทธิเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต แสดงว่าจำเลยรู้เห็นในการเก็บกระเป๋าสตางค์ ทั้งกระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายมีสีเขียวซึ่งปกติผู้เสียหายจะเหน็บไว้ที่เอวตลอดเวลา บ้านของจำเลยอยู่ฝั่งตรงข้ามถนนกับบ้านของผู้เสียหายเชื่อว่าจำเลยเคยเห็นผู้เสียหายเหน็บกระเป๋าสตางค์มาแล้วก่อนเกิดเหตุหลายครั้ง จำเลยย่อมทราบดีอยู่แล้วว่ากระเป๋าสตางค์เป็นของผู้เสียหาย ประกอบกับก่อนเกิดเหตุจำเลยก็เข้าไปในบ้านของผู้เสียหายตามพฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่าจำเลยช่วยซ่อนเร้นหรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งกระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาจากการกระทำผิดลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานรับของโจร ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก
หมายเหตุ
1. ความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357 มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ การช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์
2. ความผิดฐานรับของโจรต้องเกิดขึ้นภายหลังการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งตามที่ระบุไว้ในข้อ 1. ให้พิจารณาศึกษาเพิ่มเติมจากฎีกาต่อไปนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 2652/2543
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม
ป.อ. มาตรา 341, 357
ความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคหนึ่งจะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อได้กระทำภายหลังที่การกระทำความผิดในการได้ทรัพย์มานั้นสำเร็จไปแล้ว ม. กับพวกมีเจตนาทุจริตมาแต่แรกโดยหลอกลวงว่าจะซื้อที่ดินจากโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมมาที่บ้าน ม. เพื่อทำสัญญาจะซื้อจะขายและให้วางเงินมัดจำ ม. กลับชักชวนโจทก์ร่วมให้ร่วมกับ ม. เล่นการพนันกับพวกของ ม. โจทก์ร่วมเล่นการพนันเสียการติดต่อขอซื้อที่ดินและการเล่นการพนันจึงเป็นเพียงเหตุการณ์ที่ ม. กับพวกสร้างขึ้นเพื่อหลอกลวงเอาเงินของโจทก์ร่วมและโดยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้ ม. กับพวกได้ไปซึ่งเงินจากโจทก์ร่วมกับเงินที่โจทก์ร่วมให้ จ. โอนมาให้แก่จำเลยแสดงว่า จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของ ม. หาใช่เข้าไปเกี่ยวข้องภายหลัง ม. ได้เงินมาแล้วไม่ จำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานฉ้อโกง แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 อันเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง แต่ข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญและไม่เป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้เพราะจำเลยนำสืบปฏิเสธว่าไม่มีส่วนร่วมกระทำความผิดเกี่ยวกับเงินจำนวนที่จำเลยเป็นผู้เบิก ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม
คำพิพากษาฎีกาที่ 1264/2513
ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
ป.อ. มาตรา 83, 334, 335, 357
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับข้าวเปลือกไว้จากผู้อื่นโดยรู้ว่าเป็นของร้ายอันได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์หรือฉ้อโกงนั้น ถือว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องครบองค์ความผิดฐานรับของโจรชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว จึงไม่เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม
ข้อเท็จจริงฟังว่า จำเลยใช้ผู้อื่นไปลักทรัพย์หรือฉ้อโกงนั้นถือว่าจำเลยเป็นตัวการด้วยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ดังนั้น เมื่อจำเลยรับทรัพย์นั้นจากผู้ที่จำเลยใช้ ถือว่าเป็นการรับทรัพย์ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากกรรมอันเดียวกับความผิดฐานลักทรัพย์หรือฉ้อโกง ที่จำเลยเป็นผู้ใช้นั้นเอง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357
คำพิพากษาฎีกาที่ 1968/2542
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม
ป.อ. มาตรา 83, 340, 357
อ. กับพวกบังคับให้ผู้เสียหายถอดทรัพย์สินต่าง ๆ ให้โดยพวกคนร้ายจับผู้เสียหายไว้ อ. บอกผู้เสียหายว่า ลูกพี่ใหญ่ของตนมาแล้ว จากนั้นประมาณ 10 นาที จำเลยขับรถจักรยานยนต์ มาที่เกิดเหตุ พูดคุยกับ อ. อ. เล่าเรื่องให้จำเลยฟังจำเลยถามผู้เสียหายว่าบ้านอยู่ที่ไหน จำเลยเอาทรัพย์สิน ของผู้เสียหายไป และมอบแหวนของผู้เสียหายให้ อ. สวมไว้ แล้วจำเลยขับรถออกไป จึงไม่แจ้งชัดว่าจำเลยสมคบกับอ. และพวกวางแผนเพื่อตระเตรียมการมาเพื่อปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย กับจำเลยมาที่เกิดเหตุหลังจากการปล้นทรัพย์สำเร็จและขาดตอนไปแล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยร่วมกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดอันถึงถือได้ว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมปล้นทรัพย์ แต่การที่ จำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป จำเลยมีความผิดฐานรับของโจร แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ แต่กรณีถือได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง แต่มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสารสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรได้ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสาม
คำพิพากษาฎีกาที่ 6863/2543
ป.อ. มาตรา 341, 357
การกระทำของจำเลยที่กล่าวอ้างต่อผู้เสียหายว่าจะติดต่อให้ผู้เสียหายไถ่รถยนต์กระบะคืนจากคนร้าย และเรียกร้องเงินโดยอ้างเป็นค่าใช้จ่าย ในการดำเนินการจำนวน 3,500 บาท กับอ้างว่าคนร้ายต้องการค่าไถ่จำนวน50,000 บาท แต่ก็ไม่เกิดผลตามที่จำเลยอ้าง แม้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยและให้จำเลยนำไปบ้านของผู้มีชื่อที่อ้างว่าเป็นที่ซ่อนรถยนต์กระบะก็ไม่พบ ยังไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่าเป็นการช่วยจำหน่ายรถยนต์กระบะของผู้เสียหายซึ่งถูกคนร้ายลักไปอันจะทำให้จำเลยต้องมีความผิดฐานรับของโจรแต่พยานหลักฐานดังกล่าวรับฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หลอกลวงผู้เสียหายเพื่อให้เงินแก่จำเลยและได้รับไปแล้ว จำนวน3,500 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
คำพิพากษาฎีกาที่ 4456/2551
ป.วิ.อ. มาตรา 192
ป.อ. มาตรา 334
ใบสั่งจ่ายสินค้าที่โจทก์ร่วมมอบให้แก่ ส. ผู้รับจ้างขนส่งปุ๋ยเป็นเพียงหลักฐานเพื่อนำไปเบิกปุ๋ยจากคลังเก็บสินค้าของโจทก์ร่วม การที่จำเลยที่ 1 รับซื้อใบสั่งจ่ายสินค้าจาก ท. ซึ่งเป็นผู้รับจ้างขนส่งช่วงจาก ส. โดยคิดตามมูลค่าปุ๋ยที่ระบุในใบสั่งจ่ายสินค้าโดยต้องการนำใบสั่งจ่ายสินค้าไปรับปุ๋ยจากคลังเก็บสินค้าของโจทก์ร่วม มิใช่เป็นการรับซื้อเฉพาะใบสั่งจ่ายสินค้า ทั้ง ท. รู้ว่าจำเลยที่ 1 จะนำใบสั่งจ่ายสินค้าไปรับปุ๋ยจากคลังเก็บสินค้าของโจทก์ร่วมไปเป็นประโยชน์ของตน ท. และจำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวการร่วมกันลักปุ๋ยของโจทก์ร่วมไปโดยใช้ใบสั่งจ่ายสินค้าเป็นหลักฐานในการเบิกจ่ายสินค้า การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานลักปุ๋ยของโจทก์ร่วมมิใช่เป็นเพียงรับของโจรใบสั่งจ่ายสินค้า
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร และจำเลยที่ 1 ไม่ได้หลงข้อต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอ
3. การช่วยไถ่ทรัพย์สินเป็นรับของโจรหรือไม่ ให้พิจารณาดังนี้
3.1 ถ้าผู้กระทำเป็นการกระทำเพื่อช่วยคนร้ายจะเป็นความผิดฐานรับของโจร ให้พิจารณาศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 7894/2542
ป.อ. มาตรา 59, 357
หลังจากรถยนต์เก๋งของโจทก์ร่วมถูกลักไปแล้ว ในระหว่างที่จำเลยรอการตกลงซื้อขายรถของโจทก์ร่วมให้แก่ลูกค้ารายอื่น จำเลยได้เรียกร้องเงินจากโจทก์ร่วมตั้งแต่ครั้งแรกที่โจทก์ร่วมมาติดต่อให้จำเลยสืบหารถที่ถูกลัก โดยจำเลยทราบดีว่าขณะนั้นรถอยู่ที่ใด พฤติการณ์ที่จำเลยเรียกเงินจากโจทก์ร่วมดังกล่าวหาใช่เป็นการเรียกค่าใช้จ่ายที่จำเลยออกทดรองจ่ายในการสืบหารถของโจทก์ร่วมไม่แต่เป็นการเรียกค่าไถ่รถจากโจทก์ร่วมอันเป็นการช่วยเหลือคนร้ายจำหน่ายทรัพย์โดยจำเลยรู้ดีว่าทรัพย์ดังกล่าวถูกคนร้ายลักมา การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานรับของโจรโดยไม่คำนึงถึงว่าจำเลยจะมีเจตนาทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นหรือไม่ เพราะความผิดฐานนี้ต้องการองค์ประกอบความผิดภายในเพียงการกระทำโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 เท่านั้น
3.2 ถ้าเจ้าของทรัพย์ขอให้ช่วยติดตามให้ ไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร ให้พิจารณาศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 2266/2530
ป.อ. มาตรา 357
จำเลยเป็นคนกลางติดต่อไถ่รถจักรยานยนต์ร่วมกับผู้อื่นตามที่ผู้เสียหายกับพวกขอร้อง แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับรถจักรยานยนต์ไว้จากคนร้ายหรือร่วมรู้กับคนร้ายมาเรียกค่าไถ่จากผู้เสียหาย การที่จำเลยขี่รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาส่งให้แก่ผู้เสียหาย เป็นเรื่องนำมาคืนตามที่ผู้เสียหายกับพวกขอร้องให้ทำ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร.
คำพิพากษาฎีกาที่ 657/2519
ป.อ. มาตรา 357
การที่ผู้เสียหายให้จำเลยไปช่วยสืบหาและไถ่ทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายซึ่งถูกคนร้ายลักเอาไปจำเลยจึงไปไถ่ทรัพย์ดังกล่าวคืนมาให้ เช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิด จำเลยไม่มีความผิดฐานรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357
คำพิพากษาฎีกาที่ 2611/2527
ป.อ. มาตรา 357
ผู้เสียหายขอให้ ส. หลานชายช่วยติดตามหารถจักรยานที่ถูกลัก ส. ขอร้องให้จำเลยช่วยอีกต่อหนึ่ง จำเลยติดตามได้จึงนำรถมาเก็บไว้ที่บ้าน แม้มิได้นำไปส่งคืนทันที แต่เมื่อ ช. ถูกจับจำเลยก็ไปแจ้งต่อตำรวจทันทีว่ารถอยู่ที่จำเลยการนำรถมาเก็บที่บ้าน ก็กระทำโดยเปิดเผย มิได้ปิดบังซ่อนเร้น อันแสดงว่าจำเลยกระทำไปโดยสุจริต ดังนี้ จำเลยไม่มีความผิดฐานรับของโจร
4. พฤติการณ์ที่จะเป็นความผิดฐานรับของโจร อาจเกิดจากพฤติการณ์การพูด หรือพฤติการณ์ช่วยหาคนมาซื้อ หรือพฤติการณ์ที่รับซื้อไว้ หรือพฤติการณ์ที่นำไปซ่อน ให้พิจารณาศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 680/2508
ป.อ. มาตรา 357
มีคนเอาปืนมาจำนำจำเลย จำเลยไม่มีเงินจึงพาไปจำนำกับผู้อื่นโดยจำเลยช่วยพูดจาให้เขารับจำนำ เช่นนี้เป็นการช่วยจำหน่ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357
โจทก์บรรยายฟ้องตอนหนึ่งว่า จำเลยนี้กับพวกได้นำเอาอาวุธปืนดังกล่าวไปจำนำนายนวลแสงพุ่มพงษ์เป็นการบรรยายถึงการกระทำที่อ้างถึงจำเลยกระทำช่วยจำหน่ายอยู่ในตัวแล้วแม้ตอนต่อไปโจทก์จะบรรยายสรุปการกระทำของจำเลยว่า ทั้งนี้จำเลยกับพวกได้บังอาจร่วมกันรับเอาอาวุธปืนเป็นทำนองจำเลยรับไว้ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยและความหมายข้างต้นที่โจทก์บรรยายฟ้องเสียไป
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 10/2508)
คำพิพากษาฎีกาที่ 12/2511
ป.อ. มาตรา 83, 335, 357
บิดาของจำเลยเป็นผู้ติดต่อรับซื้อรถจักรยานยนต์จากคนร้ายตลอดมา ส่วนจำเลยได้นำเอารถจักรยานยนต์เหล่านั้นไปฝากญาติไว้เพื่อหาคนซื้อต่อไปตามที่บิดาของจำเลยใช้ให้ไปดังนี้บิดาของจำเลยและจำเลยย่อมมีความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357
คำพิพากษาฎีกาที่ 1010/2506
ป.อ. มาตรา 357
จำเลยที่ 2 รับของโจรกระบือจากบุคคลที่ลักมา แล้วขายให้จำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 รับซื้อไว้โดยรู้อยู่ก่อนแล้วว่าเป็นกระบือของร้าย ก็มีความผิดฐานรับของโจรได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1937/2533
ป.อ. มาตรา 357
จำเลยรู้ว่ายางพาราแผ่นของกลางเป็นทรัพย์ที่คนร้ายไปลักมาแล้วนำไปซ่อน ไว้ การที่จำเลยลงมือเก็บยางพาราแผ่นเตรียมขนไปจึงเป็นการช่วย พาเอาไปเสียซึ่ง ทรัพย์ที่ได้ มา จากการลักทรัพย์จำเลยจึงมีความผิดฐาน รับของโจร.
คำพิพากษาฎีกาที่ 704/2493
กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 288, 321
สร้อยคอทองคำของเจ้าทรัพย์ขาดหรือหลุดตกลงไปในกะเฌอมะปรางของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เก็บเอา เจ้าทรัพย์ขอคืนก็ไม่ยอมให้ เป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว จำเลยที่ 1 เดินเอาสร้อยไปส่งให้จำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ห่างสัก 4 วา จำเลยที่ 2 พาหนีไป ดังนี้จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 2 ผิดฐานรับของโจร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น