จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

**** อำนาจฟ้อง (มาตรา 55) ***


อำนาจฟ้องในคดีไม่มีข้อพิพาท 
ในกรณีที่บุคคลจะใช้สิทธิทางศาลโดยทำเป็นคำร้องขอ เป็นคดีไม่มีข้อพิพาทนี้เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติรับรองไว้ให้ใช้สิทธิทางศาลได้ เช่น ผู้ที่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองตามที่ประมวลกฎหมายที่ดินบัญญัติไว้ หรือการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 
สำหรับกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ผู้ใดใช้สิทธิทางศาลได้ ก็ไม่มีอำนายื่นคำร้องขอต่อศาลได้ เช่น เมื่อมีการทำนิติกรรมยกที่ดินให้ผู้ใดไปแล้ว ไม่มีบทบัญญัติให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่านิติกรรมการยกให้เป็นโมฆะได้ (ฎ. 4530/41) หรื อ กรณีที่ผู้ร้องขอให้ศาลสั่งว่าตนเป็นคนๆเดียวกับนายสมศักดิ ไม่มีกฎหมายรับรองให้ทำได้ หากมีผู้ใดโต้แย้งว่าผู้ร้องไม่ใช่บุคคลคนเดียวกับนายสมศักดิ์ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง ย่อมมีสิทธิฟ้องเป็นคดีมีข้อพิพาทได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว ( ฎ. 157/25, 100/24)
ข้อสังเกต การขอให้ศาลแสดงว่าได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครอง(ปรปักษ์)นั้น กฎหมายบัญญัติรับรองให้กระทำเฉพาะการได้มาซึ่งที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เท่านั้น (ป.พ.พ. มาตรา 1382) สำหรับที่ดินที่มีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 หรือ น.ส. 3 ก.) หรือที่ดินที่มีแบบแจ้งการครอบครอง( ส.ค.1) หรือที่ดินที่ไม่มีหลักฐานแสดงสิทธิใดๆนั้น ไม่มีกฎหมายรับรองให้ยื่นคำร้องขอให้ศาลแสดงสิทธิครอบครองได้ดังเช่นการได้มาซึ่งที่ดินมีกรรมสิทธิ์แล้ว ผู้ครอบครองที่ดินจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลแสดงว่าตนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าว (ฎ. 5389/49, 248/37) อย่างไรก็ตามก็เป็นการยื่นคำร้องขอต่อศาลเป็นกรณีที่ไม่มีการโต้แย้งสิทธิ แต่มีความจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล ดังนี้ถ้าผู้ครอบครองโต้แย้งสิทธิเป็นจำเลย ก็เป็นคดีที่มีข้อพิพาท (ฎ. 6536/44)
โจทก์จะฟ้องให้ศาลแสดงว่าตนไม่เป็นหนี้จำเลย ไม่ได้ ได้แต่จะยกเป็นข้อต่อสู้ในเมื่อฟ้องเป็นจำเลย (ฎ. 3061/22)

อำนาจฟ้องในคดีมีข้อพิพาท
กรณีมีผู้กระทำละเมิดต่อสาธรณสมบัติของแผ่นดิน ย่อมทำให้รัฐรับความเสียหาย เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ดูแลรักษาจึงมีอำนาจฟ้องผู้ทำละเมิดได้ ส่วนประชาชนทั่งไปจะมีอำนาจฟ้อง ก็ต่อเมื่อได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ เช่นจำเลยปิดกั้นทางสาธารณะ เป็นเหตุให้โจทก์ใช้ทางเดินตามปกติไม่ได้ โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนได้ ส่วนผู้ที่ไม่ได้ใช้ทางเดินดังกล่าวไม่ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ ไม่มีอำนาจฟ้อง หรือกรณีจำเลยเพียงแต่ยื่นคำร้องขอออก น.ส. 3 หรือโฉนดที่ดินในที่สาธรณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งโจทก์ ใช้ประโยชน์อยู่ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยขัดขวางการใช้ประโยชน์ของโจทก์ในที่ดินนั้น ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง (ฎ. 173/41) 
ผู้เช่ามีอำนาจฟ้องผู้ที่ทำละเมิดแก่ทรัพย์สินที่ให้เช่า (ฎ.2204/42) หลังจากฟ้องขับไล่ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินได้โอนที่ดินให้ผู้อื่นไป อำนาจฟ้องของโจทก์ก็ไม่เสียไป (ฎ.3574/42)
ผู้ที่จะฟ้องหรือถูกฟ้องในศาลได้นั้นจะต้องเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล รัฐบาลไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นนิติบุคคล จึงเป็นคู่ความไม่ได้ (ฎ. 724/90) นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ไม่เป็นนิติบุคคล ได้แก่ คณะบุคคล (ฎ. 495/19), กองมรดก (ฎ. 1583/21) เหล่านี้เป็นคู่ความไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามตำแหน่งหน้าที่ราชการบางตำแหน่งอาจเป็นโจทก์หรือจำเลยได้เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่งหน้าที่นั้นๆ เช่น ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ตำแหน่งนายอำเภอ ตำแหน่งอธิบดี ตำแหน่งพนักงานสอบสวน ฯ เนื่องจากเป็นการปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่งราชการ ไม่ใช่กระทำในฐานะส่วนตัวของผู้ที่ดำรงตำแหน่งนั้น เพราะฉะนั้นในขณะฟ้องแม้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งจะไม่ใช่ผู้ที่ทำสัญญาอันเป็นมูลฟ้องร้อง ก็มีอำนาจฟ้อง (ฎ. 2555/24, 259/38) 
โดยเหตุผลเดียวกัน หากขณะยื่นฟ้องพนักงานสอบสวนผู้ทำสัญญาประกันย้ายไปรับราชการที่อื่นแล้ว พนักงานสอบสวนผู้นั้นก็ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับตามสัญญาประกันของสถานีตำรวจนั้นได้อีก (ฎ. 2223/28)
ตามสัญญาระบุว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้เสนอให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด โจทก์ฟ้องคดีโดยมิได้เสนอให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อนไม่ได้ (ฎ. 5448/34)
แต่ถ้าภายหลังเกิดข้อพิพาทแล้ว คู่กรณีตกลงกันเองโดยไม่ได้ตั้งอนุญาโตตุลาการก่อน โจทก์มีสิทธินำคดีมาสู่ศาลได้ (ฎ. 1439/17) 
การฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ลูกหนี้โอนทรัพย์สินให้บุคคลอื่น ต้องฟ้องทั้งลูกหนี้และบุคคลภายนอกเข้ามาทั้งสองคน จะฟ้องคนใดคนหนึ่งไม่ได้ การที่เจ้าหนี้ฟ้องทั้งสองคนเข้ามาด้วยกันแล้ว แต่ภายหลังโจทก์จะทิ้งฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ ก็ถือเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้อง ดังนี้ถือว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องลูกหนี้เข้ามาในคดีเลย ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนได้ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนได้ (ฎ. 7247/37)
เจ้าของรวมคนหนึ่งมีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้ทำละเมิดได้ (ฎ. 2604/40)
ทายาทที่ถูกฟ้องให้รับผิดในหนี้ของเจ้ามรดก จะต่อสู้ว่าไม่มีทรัพย์มรดกตกทอด หรือตนไม่รับมรดกไม่ได้ (ฎ. 5279/48) เรื่องนี้เมื่อจำเลยทั้งห้าเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ ส.ผู้ตาย ซึ่งต้องรับไปทั้งทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของ ส. โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โดยไม่ต้องไปคำนึงว่ากองมรดกของ ส. จะมีทรัพย์สินหรือไม่ มากน้อยเพียงใด หรือจำเลยทั้งห้าจะได้รับมรดกหรือไม่ 
มีข้อสังเกต ความรับผิดของทายาทย่อมไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601 ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องโต้แย้งในชั้นบังคับคดี คดีนี้ศาลฎีกาก็ได้พิพากษาให้จำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทร่วมกันชำระเงิน แต่ทั้งนี้ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1601 

การดำเนินคดีของผู้ไร้ความสามารถ (มาตรา 56) 
ผู้ไร้ความสามารถตามมาตรา 56 หมายถึง ผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ 
ผู้พิทักษ์ของผู้เสมือนไร้ความสามารถนั้น ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้เสมือนไร้ความสามารถ คงมีหน้าที่ให้ความยินยอมแก่ผู้เสมือนไร้ความสามารถให้ฟ้องคดีเองเท่านั้น (ฎ. 905/23)
สำหรับกรณีผู้เยาว์อยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดา บิดามารดาจึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งมีสิทธิฟ้องคดีแทนผู้เยาว์ได้ (ฎ. 1114/35)
ข้อสังเกต ความบกพร่องในเรื่องความสามารถของคู่ความในการฟ้องคดีไม่ใช่เรื่องอำนาจฟ้อง ดังนั้น ศาลจะยกเอาความบกพร่องในความสามารถนี้มาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ ศาลจะต้องสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวตามมาตรา 56 วรรคสอง จึงจะถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ถูกต้องตามขั้นตอน (ฎ.1743/27)
นอกจากนี้มาตรา 56 วรรคสอง ศาลมีอำนาจสั่งแก้ไขให้บริบูรณ์ไม่ว่าเวลาใดๆก่อนมีคำพิพากษา กรณีจึงไม่ใช่เรื่องแก้ไขคำฟ้อง หรือคำให้การ จึงไม่อยู่ในบังคับว่าจะต้องทำเป็นคำร้องต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ดังเช่นการแก้ไขคำฟ้อง หรือคำให้การตามมาตรา 180 (ฎ. 3443/24,435/17)
โดยเหตุผลเดียวกัน แม้จะสืบพยานเสร็จแล้ว ก็อาจมีการแก้ไขข้อบกพร่องได้ (ฎ. 2302/18) ยิ่งกว่านั้นแม้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้ว โจทก์ก็ยังแก้ไขข้อบกพร่องในชั้นศาลสูงได้ (ฎ. 2096/23, 4090/33) และคำว่า ไม่ว่าเวลาใดๆก่อนมีคำพิพากษา... นั้น มิได้หมายถึงก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา เพราะบทบัญญัติดังกล่าว เป็นบทบัญญัติทั่วไปที่ใช้ได้ในทุกชั้นศาล 
ในกรณีที่บิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายฟ้องคดีแทนบุตรผู้เยาว์ไว้แล้ว ต่อมาบิดามารดาจดทะเบียนสมรสกัน ถือว่าเหตุบกพร่องในเรื่องความสามารถหมดไปแล้ว ฟ้องย่อมสมบูรณ์มาแต่ต้น (ฎ. 2741/32)
บางกรณีความสามารถของคู่ความบริบูรณ์ขึ้นในระหว่างพิจารณา ศาลก็ไม่จำต้องสั่งให้แก้ไขอีก เช่น ผู้เยาว์ฟ้องคดีเองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ระหว่างพิจารณาผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ (ฎ. 1638/11, 623/19) 
การตั้งผู้แทนเฉพาะคดีตามมาตรา 56 วรรคสี่ มีข้อสังเกตว่าจะมีการตั้งผู้แทนเฉพาะคดีได้ในกรณีผู้ไร้ความสามารถไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้แทนโดยชอบธรรมทำหน้าที่ไม่ได้ ถ้าหากมีผู้แทนโดยชอบธรรมโดยผู้แทนโดยชอบธรรมนั้นยังทำหน้าที่ได้แต่ไม่ให้ความยินยอม หรือไม่เข้ามาดำเนินคดีแทน จะตั้งผู้แทนเฉพาะคดีไม่ได้ (ฎ. 1215/92)

ฎีกาน่าสนใจ มาตรา 42

*** ฎีกาที่น่าสนใจ ม.42 **

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4014/2555
ป.วิ.พ. มาตรา 42 บัญญัติว่า "ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลได้มรณะเสียก่อนศาลพิพากษาคดี ให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณาไปจนกว่าทายาทของผู้มรณะได้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่" เมื่อปรากฏว่า ก่อนศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ท. ซึ่งอ้างว่าเป็นทายาท และเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ยื่นคำแถลงว่า โจทก์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2552 โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์แล้ว ศาลชั้นต้นรับคำแถลงและให้ส่งสำเนาให้จำเลยโดยแจ้งในคำสั่งว่า หากจำเลยจะคัดค้านให้ยื่นคำคัดค้านเข้ามาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหมาย จำเลยได้รับหมายนัดแล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยยื่นคำคัดค้านแต่อย่างใด จึงน่าเชื่อว่าโจทก์ได้ถึงแก่กรรมในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะต้องเลื่อนการนั่งพิจารณาคดีรวมทั้งการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ออกไปเพื่อดำเนินการให้มีผู้เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ก่อน การที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไป โดยยังไม่มีผู้เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2815/2554
การที่จำเลยวางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ครบถ้วน มิใช่เป็นกรณีที่คู่ความมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยถูกตั้งครบถ้วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้คู่ความชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วนก่อนมีคำสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยโดยไม่พึ่งให้จำเลยวางค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ถูกต้องครบถ้วนจึงชอบแล้วโจทก์มิได้ฟ้องให้ ส.และม.รับผิดในฐานะทายาทผู้รับมรดกของจำเลย ส.และ ม.เข้ามาในคดีในฐานะเป็นคู่ความแทนจำเลยซึ่งถึงแก่ความตายระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยต่อไปเท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ ส. และ ม. ทายาทของจำเลยรับผิดต่อโจทก์ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ พ. และ ม. จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 อีกทั้งจำเลยฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้ศาลอุทธรณ์รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาเท่านั้น มิได้ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีโดยให้ยกฟ้องของโจทก์แต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพียง 200 บาทแต่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาอย่างคดีมีทุนทรัพย์เป็นเงิน 20,890 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในส่วนที่เสียเกินมาแก่จำเลย

.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 969/2552
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานเจ้าหน้าที่ว่า ส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้แก่ตัวโจทก์ไม่ได้เพราะโจทก์เสียชีวิต หากโจทก์ถึงแก่ความตายจริงก็ต้องถือว่าโจทก์ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ คดีจะดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปได้ก็ต่อเมื่อมีบุคคลเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะ และศาลจะต้องมีคำสั่งในการที่จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนตามนัยมาตรา 42 และ 44 แห่ง ป.วิ.พ. ก่อน การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีไปโดยที่ยังมิได้ดำเนินการดังกล่าวนั้น เป็นการมิได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณาตามมาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247 เป็นการไม่ชอบ และการที่โจทก์ถึงแก่ความตายขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ย่อมเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะมีคำสั่งเกี่ยวกับการเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1950/2553
เมื่อคดีถึงที่สุดและจำเลยถึงแก่กรรมในระหว่างการบังคับคดี หน้าที่และความรับผิดย่อมตกทอดแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 ไม่ใช่เป็นเรื่องคดีค้างพิจารณาอันจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 42 และมาตรา 44 แห่ง ป.วิ.พ. ดังนั้น การขายทอดตลาดจึงดำเนินการไปได้โดยไม่จำต้องออกหมายเรียกทายาทของจำเลยเข้ามาเป็นคู่ความแทนเสียก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2915/2548
จำเลยมรณะในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงเป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 และ 43 การที่ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำขอของโจทก์จึงถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นทำแทนศาลฎีกาเท่านั้น หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจคำสั่งของศาลชั้นต้น ก็หามีสิทธิที่จะอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ไม่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้คัดค้านเลื่อนการไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้รวลรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกา ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นเช่นว่านี้จึงเป็นการไม่ชอบ แม้ผู้คัดค้านฎีกาต่อมาก็ต้องถือว่าฎีกาของผู้คัดค้านเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยมาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ป.วิ.พ. มาตรา 42 วรรคสอง มิใช่เป็นบทบังคับศาลให้ต้องจำหน่ายคดีเสมอไป และตราบใดที่ศาลยังมิได้สั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิขอให้เรียกบุคคลตามที่กฎหมายกำหนดไว้นั้นเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่คู่ความมรณะได้แม้จะพ้นกำหนดเวลาหนึ่งปีแล้วก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7632/2553
การอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นกรณีคู่ความมรณะระหว่างพิจารณาจะต้องอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยเสียก่อน
คู่ความ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล ซึ่งในชั้นขอกันส่วน คู่ความคือ ผู้ร้องทั้งสองกับโจทก์ผู้ซึ่งยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดี ส่วนจำเลยทั้งสองนั้นหาได้เป็นคู่ความในชั้นขอกันส่วนไม่ คู่ความคงมีเฉพาะผู้ร้องกับโจทก์เท่านั้น ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายไปก่อนวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ก็มิใช่กรณีที่จะต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาออกไป จนกว่าจะมีผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42
*** ฎีกาที่น่าสนใจ วิ.แพ่ง มาตรา 24 ** (เน้นทุกตัวครับ)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9018/2547
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งตามคำฟ้องและจากการตรวจสอบของโจทก์ทั้งสามว่าเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 1 แปลง ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนให้แก่ตนเองเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2535 ไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์มรดกอื่นอีก ดังนี้ ย่อมเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 182 (4) โดยไม่จำต้องทำการชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์จำเลยก่อน และการที่ทรัพย์มรดกมีเพียงที่ดินพิพาท 1 แปลง ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมรดกตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2535 ถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงในวันดังกล่าวแล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสามซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกเห็นว่าการจัดการมรดกไม่ชอบโจทก์ทั้งสามก็ฟ้องภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คือภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2540 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2544 สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6013/2549
 ในวันนัดไต่สวนคำร้องนัดแรกวันที่ 29 เมษายน 2545 ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่าได้ตรวจคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดิน ข้อคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสองแล้ว เห็นว่าพอวินิจฉัยได้ให้งดไต่สวนพยานทั้งสองฝ่าย นัดฟังคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีในวันที่ 24 พฤษภาคม 2545 เช่นนี้เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินของผู้ร้องและคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสอง มิได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 24 และคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองมิได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 153 (เดิม)
การกระทำในระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลายตามบทบัญญัติมาตรา 114 (เดิม) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 คือ ก่อนมีการฟ้องขอให้ล้มละลาย เมื่อการโอนที่ดินพิพาทในคดีนี้กระทำเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2535 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2538 จึงเป็นการโอนภายในระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 544/2551
 ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ให้ยกฟ้องจำเลยกับให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นสืบพยานหลักฐานเฉพาะของโจทก์และจำเลยแล้วมีคำพิพากษาใหม่ ในการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีมีเหตุสมควรที่จะวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายเรื่องฟ้องซ้อนอันเป็นประเด็นพิพาทแห่งคดีที่ได้ชี้สองสถานกำหนดเป็นประเด็นพิพาทไว้ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะสั่งงดสืบพยานและวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 ไม่เป็นการขัดต่อคำพิพากษาศาลฎีกา
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูง โดยอ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 แต่มิได้ดำเนินการตามขั้นตอนในมาตรา 28 (2) (ข) (ค) ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับคดีก่อนที่โจทก์ยกข้ออ้างว่า จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างขุดดินปักเสาไฟฟ้าในที่ดินของโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ที่ดินอีก 15 แปลง ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำไม่ชอบด้วยกฎหมายในคดีนี้ โจทก์ไม่ได้ฟ้องในคดีก่อน แต่ที่ดินเหล่านี้อยู่ในโครงการปรับปรุงสายส่งไฟฟ้าเดิมที่โจทก์ฟ้องคดีก่อน จึงเป็นเรื่องเดียวกัน ขณะคดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกอีก ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13180/2553
ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดชี้สองสถาน ศาลได้สอบถามข้อเท็จจริงจากโจทก์จำเลยแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้และนัดฟังคำพิพากษา เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งก่อนที่จะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) และมิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 24 เพราะศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 988/2547 ของศาลชั้นต้น และจำเลยก็อ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความเช่นกันข้อโต้เถียงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบังคับคดี ต้องไปว่ากล่าวกันในคดีเดิม จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีโดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ได้ความจากการสอบถามโจทก์จำเลย มิได้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายที่พิพาทกันในคดี ดังนั้น เมื่อนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นเวลา 14 วัน โจทก์ย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะโต้แย้งคำสั่งนั้นได้ แต่มิได้โต้แย้ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3933/2548

จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้วินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 เนื่องจากจำเลยที่ 3 มิใช่บุคคลหรือนิติบุคคล ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 และให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่เป็นคุณแก่จำเลยผู้ขอ จึงไม่เป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 และถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวในระหว่างพิจารณา

*** การชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมาย (มาตรา 24) ****

*** การชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมาย (มาตรา  24)  ****

คำสั่งชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย ไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา (มาตรา  227,228)  คู่ความอุทธรณ์ฎีกาได้โดยไม่ต้องโต้แย้งไว้  (ฎ.  3425/32)
การชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา  24  ต้องเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมาย ถ้าปัญหาที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ก็ไม่ใช่การชี้ขาดตามมาตรานี้  และเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามมาตรา  226 (ฎ.3520/24, 1282/35)
ข้อสังเกต   ในทางปฎิบัติ ก่อนศาลจะมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น ศาลจะมีคำสั่งให้งดสืบพยานก่อน แล้วจึงมีคำพิพากษา ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าคำสั่งงดสืบพยานเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาหรือไม่  การวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา  24  เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมาย และถือว่าคำสั่งงดสืบพยานไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ตามมาตรา  227,228   อุทธรณ์ได้ทันที   หรืออุทธรณ์ได้ภายหลังมีคำพิพากษาโดยไม่ต้องโต้แย้งไว้ก่อน  แต่ถ้าศาลวินิจฉัยโดยอาศัยข้อเท็จจริง ก็ไม่ต้องด้วยมาตรา 24  ไม่เข้าข้อยกเว้นว่าไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ตามมาตรา  227,228  แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามมาตรา  226
บางกรณีมีความยุ่งยากพอสมควรที่จะแบ่งแยกว่า กรณีใดเป็นการชี้ขาดข้อกฎหมายตามมาตรา  24  หรือวินิจฉัยโดยอาศัยข้อเท็จจริง  แต่ก็พอจะแบ่งแยกได้ว่า  ถ้าศาลเพียงแต่พิเคราะห์จากคำฟ้องและคำให้การแล้วมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยและวินิจฉัยข้อกฎหมาย  ดังนี้เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมายมาตรา  24 (ฎ.  3833/28,956/36,6902/43)
แต่ถ้ามีการสอบข้อเท็จจริงจากคู่ความ หรือเมื่อมีการสืบพยานไปบ้างแล้ว จึงสั่งให้งดสืบพยาน ต่อมามีคำพิพากษาโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบคู่ความหรือจากพยานที่ได้สืบไปแล้ว  มิใช่การวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา  24  จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา (ฎ. 2308/20, 2158/37)
ตามมาตรา  24  บัญญัติว่า ต้องเป็นกรณีหากวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่ฝ่ายที่ขอให้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย  จึงเป็นหลักสำคัญประการหนึ่งของการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าศาลต้องสั่งเป็นไปในทางเป็นคุณแก่ผู้ขอ เช่น ฟังว่าคดีขาดอายุความ หรือฟ้องโจทก์เคลือบคลุม พิพากษาให้ยกฟ้อง
ถ้าคำชี้ขาดเบื้องต้นนั้นไม่เป็นคุณแก่ผู้ขอ  ก็ไม่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา  24 แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา (ฎ.  3933/48, 226/04)
ถ้าหากศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นแล้ว (เป็นคุณแก่ผู้ขอ) แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์ยก คำสั่งชี้ขาดเบื้องต้นของศาลชั้นต้น (ไม่เป็นคุณ)  ดังนี้ คู่ความฎีกาได้  (ฎ. 268/91 ป.)  ที่เป็นเช่นนี้เพราะเมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเช่นนั้นแล้ว คดีก็ย่อมกลับมาสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นอีก  และเสร็จจากศาลอุทธรณ์  จึงไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์
นอกจากนี้กรณีที่ศาลยังไม่ได้สั่งในเนื้อหาคำขอ  แต่สั่งให้รวมวินิจฉัยคำร้องในคำพิพากษา (ฎ.  462/08)   หรือคำสั่งไม่รับวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น  (ฎ. 1032/94) ซึ่งไม่เป็นคุณแก่ผู้ขอ ก็เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา  เช่นกัน
เมื่อมีคำขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย  เป็นดุลพินิจของศาลที่จะวินิจฉัยชี้ขาดในระหว่างนั้น หรือจะรอไว้วินิจฉัยพร้อมคำพิพากษาก็ได้ (ฎ.  1254/17)
การขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา  24 นี้ ขอได้เฉพาะคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จะมาขอในชั้นอุทธรณ์ หรือฎีกาไม่ได้ (คร. 1346/28,ฎ.  945/36)
การขอให้ศาลชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย หากศาลไม่วินิจฉัยให้ ย่อมมีสิทธิยื่นคำขอนั้นได้อีก ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ (ฎ.  3574/36)
การวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา  24 นี้ ศาลอาจเห็นสมควรชี้ขาดเบื้องต้นเองหรือคู่ความมีคำขอให้ชี้ขาด ดังนั้นในกรณีที่คู่ความขอให้ศาลชี้ขาดโดยอ้างเหตุหนึ่ง ศาลก็อาจชี้ขาดโดยอ้างอีกเหตุหนึ่งได้ (ฎ.1102/06)

*** ประมวลกฎหมายอาญา ภาคภาษาอังกฤษ พร้อมคำแปล** ท่องๆไว้หน่อยก็ดีครับ คำแปลจะอยู่ส่วนท้าย นะครับ ของอัยการ ภาษาอังกฤษ ข้อละ 10 คะแนน คงทิ้งไม่ได้




Section 1.- In This Code:
(1) "To commit an act dishonestly” means to do an act in order to procure, for himself or the other person, any advantage to which he is not entitled by law;
(2) "Public way " means a land or waterway used by the public for traffic , and includes a railway or tramway used for public conveyance;
(3) " Public place” means a place to which the public has a right of entry:
(4) " Dwelling place” means a place used for dwelling. such as a house, shed, vessel, or floating house in which a human being dwells, it also includes the precinct of the place used for dwelling, whether it be enclosed or not ;
(5) " Arm” includes anything which is not a weapon by nature, but which is used or intended to be used as a weapon for causing grievous bodily harm;
(6) " To commit an act of violence" means to do an act of violence against the body or mind of a person, Whether it be by physical force or by any other means, and included any act causing any person to be in a state of being unable to resist, whether it be using drug causing intoxication , by hypnotism or by any other similar means;
(7) " Document" means any paper or other material for expressing the meaning by letters, figures, plan or an other design, whether it be by way of printing, photographing or any other means, which is evidence of such meaning ;
( 8 ) "Official document" means a document draw up or authenticated by an official in the course of his duty, and includes also a copy of such document authenticated by an official in the course of his duty ;
(9) " Document of right” means a document evidencing the creation, modification, transfer, reservation or extinction of a right;
(10) "Signature” includes a finger - print and mark put to a document by a person in lieu of his signature;
(11) "Night" means the restraint, keeping in custody, detention, confinement or imprisonment;
(12) Custody” means the restraint, keeping in custody detention confinement or imprisonment
(13) Ransom” means a property or benefit demanded or given in exchange for the liberty of the person who is taken away held or confined
(14) Electronics Card means that:
(A) any documents or any other materials in any description, that issuer having issued to the person entitled to use, whether the name specified or not the data or cipher noted by applying the ways or electron electricity, electromagnet wave or any other similar ways and applying the ways of letters, figures, ciphers, identify number or symbols either able to be seen or not to be seen by the naked eyes;
(B) data, cipher, account _ number, any of set numbers of electron or figures which issuer having issued to the person entitled to use by any of documents or materials not to be issued, but there is the way to use in the same manner as (A); or
(C) Anything else to be used in corroboration of the electronic data for showing the relationship between person and electronic data by the object for specifying the owned person.”

มาตรา 1 ในประมวลกฎหมายนี้
(1) "โดยทุจริต" หมายความว่าเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ โดยที่ชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
(2) "ทางสาธารณ" หมายความว่าทางบกหรือทางน้ำสำหรับ ประชาชนใช้ในการจราจร และให้หมายความรวมถึงทางรถไฟและทาง รถรางที่มีรถเดิน สำหรับประชาชนโดยสารด้วย
(3) "สาธารณสถาน" หมายความว่า สถานที่ใด ๆ ซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้
(4) "เคหสถาน" หมายความว่า ที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น เรือน โรง เรือ หรือแพ ซึ่งคนอยู่อาศัย และให้หมายความรวมถึงบริเวณของที่ ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ได้
(5) "อาวุธ" หมายความรวมถึงสิ่งซึ่งไม่เป็นอาวุธโดยสภาพแต่ซึ่งได้ ใช้หรือเจตนาจะใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ
(6) "ใช้กำลังประทุษร้าย" หมายความว่า ทำการประทุษร้ายแก่กาย หรือจิตใจของบุคคล ไม่ว่าจะทำด้วยใช้แรงกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด และให้ หมายความรวมถึงการกระทำใด ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ใน ภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ไม่ว่าจะโดยใช้ยาทำให้มึนเมา การสกดจิตหรือ วิธีอื่นใดอันคล้ายคลึงกัน
(7) "เอกสาร" หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่นจะเป็นโดย วิธีพิมพ์ ถ่ายภาพหรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น
( 8 ) "เอกสารราชการ" หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำ ขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ และให้หมายความรวมถึงสำเนาเอกสารนั้น ๆ ที่เจ้า พนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย
(9) "เอกสารสิทธิ" หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ
(10) "ลายมือชื่อ" หมายความรวมถึงลายพิมพ์นิ้วมือและเครื่องหมาย ซึ่งบุคคลลงไว้แทนลายมือชื่อของตน
(11) "กลางคืน" หมายความว่า เวลาระหว่างพระอาทิตย์ตก และ อาทิตย์ขึ้น
(12) "คุมขัง" หมายความว่า คุมตัว ควบคุม ขัง กักขังหรือจำคุก
(13) "ค่าไถ่" หมายความว่า ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่เรียกเอา หรือให้เพื่อแลกเปลี่ยนเสรีภาพของผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยว หรือผู้ถูกกักขัง
(14) "บัตรอิเล็กทรอนิกส์" หมายความว่า
(ก) เอกสารหรือวัตถุอื่นใดไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใดที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ ซึ่งจะระบุชื่อหรือไม่ก็ตาม โดยบันทึกข้อมูลหรือรหัสไว้ด้วยการประยุกต์ใช้วิธีการทางอิเล็กตรอน ไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือวิธีอื่นใดในลักษณะคล้ายกัน ซึ่งรวมถึงการประยุกต์ใช้วิธีการทางแสงหรือวิธีการทางแม่เหล็กให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข รหัส หมายเลขบัตร หรือสัญลักษณ์อื่นใดทั้งที่สามารถมองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
(ข) ข้อมูล รหัส หมายเลขบัญชี หมายเลขชุดทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องมือทางตัวเลขใดๆ ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ โดยมิได้มีการออกเอกสารหรือวัตถุอื่นใดให้ แต่มีวิธีการใช้ในทำนองเดียวกับ (ก) หรือ
(ค) สิ่งอื่นใดที่ใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของ
(15) "หนังสือเดินทาง" หมายความว่า เอกสารสำคัญประจำตัวไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใด ที่รัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศออกให้แก่บุคคลใด เพื่อใช้แสดงตน ในการเดินทางระหว่างประเทศ และให้หมายความรวมถึงเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและ แบบหนังสือเดินทางที่ยังไม่ได้กรอกข้อความเกี่ยวกับผู้ถือหนังสือเดินทางด้วย"

** ฎีกาตัวไหนที่มีรูปผมกำกับ ขอให้สมาชิกโปรดเข้าใจว่า นั้นคือ เก็งในการสอบอัยการผู้ช่วยนะครับ ส่วนความเห็นแย้ง เป็นว่ารู้กัน ผมไม่ต้องลงรูปนะครับ "


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3328/2554
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับค่าจ้างจากจำเลยที่ 3 ให้แก่โจทก์และบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยที่ 3 แล้วแต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไปรับเงินค่าจ้างงวดแรกจากจำเลยที่ 3 แล้วนำไปชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ได้รับชำระหนี้ไว้และไม่ดำเนินการใด ๆ เช่นแจ้งให้จำเลยที่ 3 ระงับการจ่ายเงินสำหรับงวดต่อ ๆ ไป ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 เข้าใจว่าสามารถจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ได้โดยตรง การกระทำของโจทก์นับว่าเป็นการให้สัตยาบันแก่การชำระหนี้งวดแรก ทั้งยังเป็นการยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนโจทก์ในการขอรับชำระหนี้ในงวดต่อ ๆ ไปด้วย เมื่อจำเลยที่ 3 ชำระหนี้ตามสัญญาจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 ไปจนครบถ้วนแล้ว หนี้ของจำเลยที่ 3 จึงระงับสิ้นไป โจทก์ไม่อาจเรียกให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้อีกได้ เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 1 เอง
 คำถาม  เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดี ผู้ขอเฉลี่ยทรัพย์ หรือผู้ขอรับชำระหนี้จำนอง จะมีสิทธิขอให้บังคับคดีต่อไปหรือไม่
                        คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่   8970/2553  จำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 และจำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีวางศาลแล้วเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2549  ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุถอนการบังคับคดีจำเลยหรือไม่
                        เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 295 บัญญัติว่า ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีในกรณีต่อไปนี้ (1) เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีนั้นเอง หรือถอนโดยคำสั่งศาล แล้วแต่กรณี เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้วางเงินต่อศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษา พร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมแห่งคดี  หรือค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี หรือได้หาประกันมาให้จนเป็นที่พอใจของศาล สำหรับจำนวนเงินเช่นว่านั้น  (2) ดังนั้น เมื่อจำเลยอ้างในคำร้องขอให้ถอนการบังคับคดีว่า จำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมค่าฤชาธรรมเนียมแห่งคดีและค่าธรรมเสียมในการบังคับคดีครบถ้วนแล้ว  โดยโจทก์ยื่นคำร้องรับว่าได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากจำเลยแล้วจริง ทั้งขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องของจำเลย ซึ่งเท่ากับโจทก์ก็ประสงค์ให้ถอนการบังคับคดี ส่วนเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบคำร้องของจำเลยแล้ว ไม่ได้คัดค้านว่าจำเลยยังชำระค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีไม่ครบถ้วน ต้องฟังว่าจำเลยชำระค่า ธรรมเนียมในการบังคับคดีครบถ้วนแล้วเช่นกัน กรณีย่อมไม่มีเหตุบังคับคดีจำเลยอีกต่อไป ไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ยึดสละสิทธิในการบังคับคดี หรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ที่จะเป็นเหตุให้ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 มีสิทธิขอให้บังคับคดีต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา  290 วรรคแปด
                             พิพากษากลับว่า  ให้ถอนการบังคับคดีจำเลย